ไตรภาคความเสี่ยง ตอนจบ

ไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ตอนอวสาน กุมบังเหียนความเสี่ยง (Rick) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ดร. วรัณทัต ดุลยพฤกษ์

ห่างหายไปนานพอสมควรครับ คราวนี้ถึงเวลาจับเจ้าไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) มาถึงตอนอวสานกันเถอะครับ จะเป็นอย่างไรต้องติดตามชมครับ

ความเดิมจากตอนที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักกับ ‘ มูลค่าของตาย หรือ Certainty Equivalent ’ พร้อมกับการจัดกลุ่มของท่านว่าเป็นประเภทชอบ เฉยๆ หรือ ไม่ชอบความเสี่ยง

คราวนี้เราลองมาดูกันครับว่าเราจะใช้โมเดลง่าย ๆ มาตัดสินใจที่จะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงกับกิจกรรมใหม่ ๆ ในชีวิตของเราอย่างไรครับ

โดยปกติแล้ว หากเราดำเนินกิจกรรมแบบเดิมของชีวิต ๆ มาถึงจุดหนึ่ง ความรู้สึกท้าทายที่จะปรับเปลี่ยนไปลองกิจกรรมใหม่ ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ ลองเอาหลักคิดง่าย ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจดูครับ

โดยหากเราพิจารณากิจกรรมเดิม ๆ ของเราให้มีลักษณะเป็นเหมือนมูลค่าของตาย (Certainty Equivalent) ส่วนกิจกรรมใหม่ที่เราอยากจะลองอาจจัดระบบคิดให้เป็นดังนี้ครับ

มูลค่าความคาดหวัง (Expected Value) ของกิจกรรมใหม่ จะเท่ากับการรวมกันของ 2 มูลค่าต่อไปนี้ครับ
มูลค่าที่ท่านได้รับหากท่านประสบความสำเร็จในกิจกรรมใหม่นั้น ๆ จะเท่ากับ ความน่าจะเป็นที่ท่านประสบความสำเร็จ คูณกับ ผลที่ได้จากความสำเร็จนั้น ๆ

และมูลค่าที่ท่านได้รับหากท่านไม่ประสบความสำเร็จในกิจกรรมใหม่ จะเท่ากับ ความน่าจะเป็นที่ท่านไม่ประสบความสำเร็จ คูณกับ ผลที่ได้จากความไม่สำเร็จนั้น ๆ

อย่าลืมนะครับว่า ความน่าจะเป็นของทั้งประสบและไม่ประสบความสำเร็จต้องเท่ากับ 1 ครับ ซึ่งเป็นไปตามกฎของความน่าจะเป็นครับ

คราวนี้ ท่านควรจะตัดสินใจไปร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ หาก มูลค่าความคาดหวัง (Expected Value) ของกิจกรรมใหม่ สูงกว่า มูลค่าของตาย (Certainty Equivalent) ที่ท่านได้จากกิจกรรมเดิม ๆ ครับ

ฟังดูเหมือนจะง่ายในการประเมินชะตากรรมของชีวิต หากแต่ว่ามูลค่าของทุกส่วน ควรมีการรวมคิดต้นทุนและผลตอบแทนที่ได้อย่างครบองค์ประกอบครับ

ตัวอย่างเช่น หากท่านคิดจะเปลี่ยนงานเพราะมีคนเสนอตำแหน่งพร้อมสิทธิพิเศษมากมาย สิ่งที่ท่านเคยได้รับจากงานเดิมทั้งทางด้านต้นทุนการดำรงชีวิตและเม็ดเงินที่ได้จากการทำงานนั้น จะต้องถูกคำนวณมาไว้ในฝั่งของมูลค่าของตาย (Certainty Equivalent)

ส่วนงานใหม่ คำว่าใหม่มักจะแฝงความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) มาด้วย ต้นทุนและเม็ดเงินรายได้ต้องเกิดขึ้นจากการคาดเดาครับ

อย่าลืมคิดต้นทุนในการปรับเปลี่ยนงาน (พอจะจัดหมวดพวกนี้เป็นต้นทุนจากการเจรจาติดต่อประสานงาน หรือ Transaction cost) ด้วยนะครับ มันจะอยู่ในระบบคิดของต้นทุนที่เกิดขึ้นกับงานใหม่ครับ ส่วนความน่าจะเป็นที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้นคงต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ครับ

ทฤษฎีตายตัวสำหรับการใส่ความน่าจะเป็นเหล่านี้ยังไม่มีปรากฏครับ คงต้องอาศัยการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ร่วมกันครับ

ถ้าเพียงเปรียบเทียบง่าย ๆ แค่นี้แก่ท่านผู้อ่านแต่เพียงเท่านี้คงโดนด่าเปิงเป็นแน่แท้

เอาอย่างนี้ครับ เรามาลองทำความเข้าใจและปรับตัวแปรที่สำคัญของฝั่งมูลค่าความคาดหวัง (Expected Value) ของกิจกรรมใหม่กันดูดีกว่าครับ

โดยโครงสร้างของเจ้ามูลค่าความคาดหวังดังกล่าวนี้ หลัก ๆ แล้วมันจะเป็นผลรวมของความน่าจะเป็นแต่ละประเภท คูณกับผลของแต่ละประเภท ถูกต้องไหมครับ

โดยความน่าจะเป็นที่จะประสบความเสร็จนี้มันจะแปรผกผันกับความน่าจะเป็นที่จะไม่ประสบความสำเร็จ โดยสัดส่วนเท่า ๆ กันครับ กล่าวคือ ถ้าความน่าจะเป็นฝั่งหนึ่งเพิ่ม มันจะไปลดความน่าจะเป็นของอีกฝั่งหนึ่งไงครับ เพราะมันต้องรวมกันเท่ากับ 1
คราวนี้ สิ่งที่เราต้องเพิ่มอย่างแรกคือ ความน่าจะเป็นที่ท่านจะประสบความสำเร็จ เพราะตัวความน่าจะเป็นนี้จะมีน้ำหนักที่สำคัญในการคูณผลประโยชน์สุทธิที่ได้จากกิจกรรมใหม่ ๆ

การเพิ่มความน่าจะเป็นในส่วนนี้ หลัก ๆ แล้วจะมาจากตัวท่านเองก่อนครับ ลองมองดูตัวเราแล้วพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาตนเองเข้าสู่กิจกรรมนั้น ๆ ครับ

ปัจจัยเรื่องความสุขและความท้าทายที่ท่านชื่นชอบราวกับกิจกรรมในฝัน หรือศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ย่อมมีผลในการเพิ่มความน่าจะเป็นในส่วนนี้ได้ครับ

ปัจจัยภายนอกที่มีผลเช่นกันก็คงเป็น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ระบบตลาด โอกาสทางธุรกิจ นำมาผนวกรวมคิดได้ครับ หากปัจจัยเหล่านี้เป็นเหมือนลมหนุนปีกของท่าน ความน่าจะเป็นดังกล่าวนี้ก็จะเพิ่มขึ้นครับ

ในส่วนของผลที่ได้จากความสำเร็จนั้น ๆ โดยทั่วไปจะต้องเป็นบวกครับ และเกณฑ์การใส่ตัวเลขก็ต้องนำปัจจัยของตัวท่านและปัจจัยภายนอกมาประมวลดูครับ

ดูว่าหักลบกลบหนี้ในการประกอบกิจกรรมใหม่ พร้อมทั้งหักต้นทุนทั้งหมดจากการปรับเปลี่ยนอาชีพ (เสี้ยวหนึ่งของTransaction Cost) ว่าจะมีผลประกอบการใหม่ที่เป็นบวกหรือไม่

หากผลที่ได้จากความสำเร็จนั้นดันเป็นลบ ผมว่าโดยคำนิยามแล้ว การปรับเปลี่ยนไปสู่กิจกรรมใหม่ ๆ นั้นน่าจะเป็นการปรับตัวเข้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมครับ

เพราะฉะนั้นผลบวกจากกิจกรรมใหม่ที่มากเพียงพอจึงจะ kick in ให้เรามานั่งตัดสินใจตรงนี้ไงครับ
หากผลเป็นลบที่เกิดขึ้นจากการโดนเชิญออกจากงานก่อนเวลาอันควร หรือ กิจกรรมเดิมเกิดปัญหาวิกฤตจนต้องเลิก
ลบตรงนี้อาจจะเป็นลบที่น้อยกว่าผลของการอยู่เฉย ๆ เราอาจจะจำเป็นต้องนำลบน้อย ๆ จากกิจกรรมใหม่ไปเทียบกับลบมาก ๆ ของกิจกรรมเดิม แล้วมองชีวิตที่ต้องลุยกันต่อไปครับเพราะจากการเปรียบเทียบโดยรวมแล้วมันจะออกมาเป็นบวก
หรือ พูดง่าย ๆ ว่า ชีวิตติดลบน้อยลง สู้ต่อไปครับสักวันมันจะเป็นบวกจริง ๆ กับเขาบ้าง

ในส่วนของเจ้าต้นทุนจากการเจรจาติดต่อประสานงาน หรือ Transaction cost ซึ่งได้รวมต้นทุนการปรับเปลี่ยนอาชีพ เจ้าต้นทุนตัวนี้มีผลลบกับทั้งผลที่ได้จากความสำเร็จ และ ผลที่ได้จากความไม่สำเร็จครับ เพราะเป็นต้นทุนที่ท่านต้องจ่ายหรือสูญเสียจากการปรับเปลี่ยนไงครับ

ถ้าต้นทุนตัวนี้สูง การปรับเปลี่ยนจะน้อยลงครับเพราะมันจะไปหักล้างกับผลที่ได้จากความสำเร็จ และ ยังไปเพิ่มความสูญเสียกับผลที่ได้จากความไม่สำเร็จด้วยครับ

ในส่วนของการลดความน่าจะเป็นที่ท่านจะไม่ประสบความสำเร็จ จะขอไม่กล่าวถึงครับเพราะมันจะลดลงอยู่แล้วหากเราสามารถปรับเพิ่มทางฝั่งของความน่าจะเป็นที่ท่านจะประสบความสำเร็จไงครับ

ที่น่าสนใจกว่ายังมี การลดความสูญเสียหากท่านไม่ประสบความสำเร็จหรือการเพิ่มผลที่ได้หากไม่ประสบความสำเร็จ การเพิ่มตัวนี้อาจไม่ได้มาฟรี ๆ ครับ

ทางหนึ่งที่เป็นรูปธรรมที่คนนิยมใช้คือ การซื้อประกันภัยไว้ผ่อนหนักให้เป็นเบาครับ แต่อย่างที่เรียนไว้ครับ สุดท้ายมันก็จะสร้างต้นทุนเพิ่มให้กับผลที่ได้จากความสำเร็จและผลที่ได้หากไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจเพิ่ม option ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดีครับ

ส่วนทางที่ไม่เป็นรูปธรรมก็คงขึ้นอยู่กับทางออกของแต่ละท่านครับว่าจะมีทางสนับสนุนตัวแปรตรงนี้อย่างไรครับ
บางท่านอาจจะพึ่งหมอดู หรือ ติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการดลบันดาล หรือ ช่วยกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิต อาจจะเป็นมุมมองของการช่วยเพิ่มความน่าจะเป็นในความสำเร็จในอนาคต

ผมว่าอนาคตของท่าน ผู้ที่กำหนดอย่างแท้จริงคือ ตัวท่านเองครับ ขอข้อนี้ไว้เป็นเพียงปัจจัยรอง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนดีกว่าครับ เดี๋ยวเจ้าไม่ช่วยจะมาพาลโกรธเจ้ากันไปใหญ่

ฟังแล้วเครียดมากขึ้นอีกสักนิดก่อนจะตัดสินใจเดินทางใหม่ครับ
การนำระบบคิดดังกล่าวมาปรับใช้สำหรับฝั่งเจ้าของกิจการ ในกรณีที่ท่านทั้งหลายมีลูกน้องที่คิดจะแยกทางเดินกับท่าน
โดยหลัก ๆ แล้ว ลูกน้องเราจะอยู่ต่อหากเจ้ามูลค่าความคาดหวัง (Expected Value) ของกิจกรรมใหม่ ต่ำกว่า มูลค่าของตาย (Certainty Equivalent) ที่ท่านจ่ายให้เขาจากกิจกรรมเดิม ๆ ครับ

จากโครงสร้างการปรับระบบที่เสนอมาแล้ว หากนำมามองกลับกัน การเพิ่มผลประโยชน์ที่อาจจะอยู่ในรูปเงินหรือสวัสดิการให้แก่ลูกน้องเราก็จะเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าของตาย (Certainty Equivalent) โดยตรงครับ
ในส่วนการสร้าง Loyalty ลูกน้องในระบบคิดของการรักองค์กรก็คงต้องทำต่อเนื่องครับ ส่วนนี้อาจจะไม่ได้ให้ผลเป็นเงินโดยตรงกับลูกน้องครับ แต่ได้ใจเขามาร่วมกันทำงานให้องค์กรเราเจริญครับ

ของอย่างนี้ HR อย่าพลาดครับ อย่ามัวแต่ดูแลลูกค้าจนลืมความเป็นองค์กรของตนเองนะครับ
ส่วนทางอื่น ๆ ที่จะปิดกันข้อมูลข่าวสารสู่ลูกน้องเพื่อลดโอกาสในการเปลี่ยนงาน คงจะห้ามลำบากครับ เทคโนโลยีและการสื่อสารมันเร็วเกินกว่าที่เราจะควบคุมมันครับ

เปิดใจให้กว้างและพร้อมจะแข่งขันในการชิงตัวคนเก่งให้อยู่กับองค์กรจะดีกว่าครับ
ผมจะลองเอามุมมองของโมเดลเดิม ๆ นี้มาปรับใช้กับคนโกงหรือไม่โกงดีไหมครับ จะได้นำไปใช้ควบคุมพฤติกรรมของบรรดาผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ จะจับตานักการเมืองบางคนที่เขาจะเข้าไปโกงประเทศ ลองคิดตามผมดูครับ (ผมนำงานเขียนของ Becker (1968) มาอธิบายแบบง่าย ๆ กันครับ)

ผมกำหนดให้ เงินหรือผลประโยชน์เป็นตัวดัชนีครับ หากเขาท่านนั้นไม่โกง เขาจะมีมูลค่าของตาย(Certainty Equivalent) เป็นตัวเริ่มต้นในการเปรียบเทียบครับ

แต่หากเขาจะโกง เขาจะต้องคิดถึงมูลค่าความคาดหวัง (Expected value) ที่มาจากการรวมกันของ
หากเขาไม่ถูกจับได้จะคำนวณจาก ความน่าจะเป็นที่เขาจะไม่ถูกจับได้ คูณกับ ผลประโยชน์สุทธิที่เขาได้จากการโกงครั้งนั้น
โดยคำว่าสุทธิต้องให้ปรากฏไว้เพราะ บางคนเวลาเขาจะโกง เขาจะมีต้นทุนการหลบเลี่ยงการถูกจับได้ที่เขาต้องเสียให้รูปของเงินหรือทรัพยากรไงครับ

แต่หากเขาถูกจับได้ เราจะคำนวณได้จาก ความน่าจะเป็นในการถูกจับได้ คูณกับ ความสูญเสียจากการโดนจับได้ เช่น การถูกปรับ การติดโทษจำคุก เป็นต้น ซึ่งมูลค่าความสูญเสียตรงนี้ยังต้องรวมคิดต้นทุนที่เขาเสียไปเพื่อการหลบเลี่ยงการถูกจับได้ด้วยครับ

แบบเดิมครับ ความน่าจะเป็นจากทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องรวมกันเท่ากับ 1 ครับ

เป็นที่แน่นอนครับ หากมูลค่าความคาดหวัง (Expected value) ของการโกง สูงกว่า มูลค่าของตาย (Certainty
Equivalent) ที่เขาไม่ได้โกง เขาก็จะโกงครับ

ลองนำตัวแปรที่สำคัญในโมเดลง่าย ๆ เหล่านี้มาวิเคราะห์ดูจะพบว่า

ความน่าจะเป็นในการจับได้ หรือ จับไม่ได้ ตรงนี้มีผลโดยตรงกับพฤติกรรมการโกงครับ หากโอกาสที่เขาจะถูกจับได้ใกล้ศูนย์มาก ๆ คือ ยากที่จะตรวจจับหรือเอาผิดได้ เขาจะโกงครับ

ตรงส่วนนี้ หากจะมองมุมมองจากผู้ควบคุมแล้ว เราต้องเพิ่มความน่าจะเป็นในการจับได้เพื่อแก้ปัญหาเปราะแรกครับ
ในเชิงรูปธรรม ก็คงจะเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น เช่น การติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด การเพิ่มและกวดขันเวรยาม พวกนี้มีต้นทุนครับ และจะสูงมากทีเดียวหากต้องการ x-ray ทุกตารางนิ้วครับ

ในเชิงนามธรรม ก็คงจะเป็นการนำเอาหลักธรรมคำสอน จรรยาบรรณในการประกอบอาชีพต่าง ๆ มาปลูกฝังอย่างต่อเนื่อง อันนี้ต้นทุนทางเวลาสูงและความมีประสิทธิภาพของวิธียังเป็นความถามอยู่ครับ เพราะเคยได้ยินไหมครับว่า คนจะโกงยังไงมันก็โกง ครับ

อีกปัจจัยที่มาควบคู่กันกับการเพิ่มความน่าจะเป็นในการตรวจจับคือ บทลงโทษที่จะส่งผลโดยตรงกับความสูญเสียของผู้ที่โกงหากถูกจับได้ครับ หากบทลงโทษส่งผลถึงความสูญเสียที่มากกว่าผลได้จากการโกง เขาจะไม่โกงตามทฤษฎีครับ

ทั้งสองอย่างนี้ต้องมาพร้อม ๆ กันครับ หากมาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ตรวจจับได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ความรุนแรงของบทลงโทษต่ำ หรือ บทลงโทษรุนแรงแต่ความเป็นไปได้ในการถูกจับได้ต่ำ การโกงจะเกิดขึ้นโดยง่ายเพราะมันโกงแล้วคุ้มครับ
นำตัวอย่างในชีวิตประจำวันมาพิจารณา การก่อปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ หากมีการตรวจจับได้สูง พร้อมกับบทลงโทษที่รุนแรง ความสงบสุขในสังคมก็น่าจะเกิดขึ้นได้ครับ

หากแต่การเพิ่มจำนวนเจ้าพนักงานและเครื่องมือในการตรวจจับมันมีต้นทุนที่สูงครับ และ บทลงโทษที่รุนแรงก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาตัวบทกฎหมายที่ยาวนาน คงจะเดาออกครับว่าผลจะเป็นอย่างไร

มีสาระน่ารู้มาบอกเพิ่มเติมครับ คดีประเภทสะเทือนขวัญเปรียบเทียบกับคดีลักเล็กขโมยน้อย อัตราการตรวจจับซึ่งนำไปสู่การจับกุมในที่สุดจะต่างกันครับ

โดยเหตุผลที่ว่า คดีสะเทือนขวัญจะทำให้สังคมมีต้นทุนจากความหวาดกลัวสูงจึงจำเป็นต้องมีอัตราการจับกุมที่สูงกว่าคดีลักเล็กขโมยน้อยครับ

เขาว่ากันว่า คนที่มีการศึกษาสูงขึ้น หรือ ประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะกลัวการถูกจับได้มากกว่าบทลงโทษครับ
อันนี้อธิบายได้ง่าย ๆ จาก ต้นทุนและความเสื่อมเสียชื่อเสียงที่สูงจากการถูกจับได้และเป็นข่าวสู่สังคมสูงกว่าค่าปรับหรือบทลง
โทษมากครับ

โมเดลที่ผมบอกไปนั้น ไม่ค่อยจะได้ผลกับอาชญากรรมโดยเสน่หา (Crime by Passion) เช่น พวกฆาตกรโรคจิตต่อเนื่อง (Serial killer) หรือ พวกชอบขโมยที่ออกแนวโรคจิตครับ

พวกนี้ความสุขที่ได้จากการกระทำผิดมันมีมากจนปัจจัยอื่น ๆ ดูมีผลน้อยลงไปครับ
และต้นทุนในการตรวจจับ เรายังไม่ได้รวมคิดถึงกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องมีการสืบสวน สอบสวน ขึ้นศาล รวมทั้งการตัดสินจำคุก ที่ยังมีต้นทุนทั้งทางด้านเวลาและทรัพย์สินจากทางสังคม

ในส่วนของต้นทุนการหลบเลี่ยง ต้องพิจารณาสองด้านครับ ด้านแรกต้นทุนการหลบเลี่ยงโดยตรง ถ้าการโกงนั้นสามารถหลบเลี่ยงโดยวิธีง่าย ๆ ไม่แพง ย่อมเปิดประตูทางด้านความโกงให้กว้างขึ้นครับ

หรือ อีกด้านที่มองถึง ความมีประสิทธิภาพของการหลบเลี่ยงนั้น ๆ หากเป็นวิธีที่เนียนและยากที่จะตรวจจับ ประตูโกงก็ยิ่งเปิดกว้างขึ้นเท่านั้นครับ

จะเห็นได้ว่าการมานั่งจับคนโกง หากจะยึดการตรวจสอบที่เข้มข้นและบทลงโทษที่รุนแรง ที่ต้องแข่งกับความสามารถในการหลบเลี่ยง มันดูเหมือนว่าจะไม่จบง่าย ๆ ครับ

เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาที่รากแก้วครับ ซึ่งระบบส่วนใหญ่ของกฎหมายจะเป็นระบบนี้ครับ เขาเรียกว่า Command and Control

ทางแก้อีกทางที่ต้องอาศัยการปลูกฝังอย่างต่อเนื่องคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดี ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Incentive program ครับ อันนี้ยอมรับว่ายากครับ เพราะยากที่จะหยั่งถึงถึงจิตใจมนุษย์

แง่คิดข้อสุดท้ายก็มีอยู่ว่า ทางเศรษฐศาสตร์ไม่เคยบอกว่าสังคมที่ดีที่สุดต้องปราศจากการโกงหรืออาชญากรรมนะครับ
ไม่ใช่เพราะนักเศรษฐศาสตร์สนับสนุนคนโกงนะครับ แต่เขามองว่าต้นทุนที่จะทำให้สังคมเราสะอาดขนาดนั้น มันอาจจะสูงเกินไปครับ

มันต้องหาจุดเหมาะสมให้ได้ครับ

ลองนำโมเดลง่าย ๆ ที่ผมแสดงให้ดูไปเป็นแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ หรือ การบริหารจัดการดูครับ มันอาจจะไม่ใช่เทคนิคที่หวือหวา แต่ก็น่าจะให้มุมมองที่ดีกับเราต่อไปครับ

เอาไว้ครั้งหน้าจะหาหัวข้อสนุก ๆ มาเล่าให้ฟังใหม่ครับ

Published in: on November 13, 2007 at 7:51 pm  Leave a Comment  

The URI to TrackBack this entry is: https://thaicoon.wordpress.com/2007/11/13/%e0%b9%84%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%87-%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%88%e0%b8%9a/trackback/

RSS feed for comments on this post.

Leave a comment