Facebook ในฐานะตัวละครสำคัญของ Web2.0

facebook2.jpg

16 พ.ย. ที่ผ่านมา Jimmy Wales ผู้ก่อตั้ง Wikipedia สารานุกรมออนไลน์ ที่สร้างปรากฏการณ์ “ร่วมคิดร่วมสร้าง” ระดับโลก มาเยี่ยมเยือนเมืองไทย โดยมากล่าวปาฐกถาในงาน Bangkok ICT Expo2007
สาระในการพูดก็ไม่ได้ต่างอะไรจากทุก ๆ ครั้งที่พูดมา คือพูดถึงที่มาที่ไปของเวปนี้ (และเวปโครงการลูกอื่น ๆ) และทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมายในอนาคต

ถือเป็นการมาเยี่ยมเยียนเหล่าอาสาสมัคร Wiki สัญชาติไทย … ว่าง่าย ๆ แบบนั้น
(แถมล่าสุดจะทำ Search Engine เพราะเห็นช่องว่างของยักษ์ใหญ่ ๆ ในโลก)

สองตอนที่แล้ว เราคุยกันถึงกำเนิดของ Facebook เล่าถึงวิธีคิดของผู้ประกอบการหนุ่มอดีตนักศึกษาฮาร์วาร์ดผู้มีอายุไม่ครบสองรอบดี

พูดกันต่อไปถึงการ “เปิดกว้าง” ต่อนักพัฒนาโปรแกรม และ “ขยายขอบเขต” ของตัวเองให้กว้างไกลกว่าเวปเครือข่ายทางสังคมอื่น ๆ

จนกดดันให้คู่แข่งรายอื่น (และผู้เล่นที่สนใจ) ต้องปรับตัวตาม

แม้ Wiki กับ Facebook จะไม่ค่อยเหมือนกันซักเท่าไหร่

แต่ที่ทั้งคู่ไม่ปฏิเสธคือ “ระบบเปิด”

และต่างเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ทางด้านอินเทอร์เน็ตในยุค “โลก (ค่อย ๆ) แบน”

หลายคนเรียกลักษณะเฉพาะของเวปในยุคนี้ว่า Web2.0

เวปส่วนใหญ่ได้กลายสภาพจาก “เวปข้อมูลข่าวสาร (ที่อยู่โดดๆ)” (Isolated Information Silo) ไปสู่ “แพล็ทฟอร์มที่เชื่อมโยงเข้าหากัน”

ผ่านทางอินเทอร์เน็ต

องค์ประกอบทางสังคม (Social Element) จะเป็นลักษณะเฉพาะของ Web2.0 ด้วย กล่าวคือ ผู้ใช้จะสร้างและกระจายเนื้อหาต่าง ๆ เอง (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นไปโดยเสรี – เชิญก็อปปี้ เชิญใช้ซ้ำ กันตามสบาย)

กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ ช่วยทวีความหมายและคุณค่าของเวป เพราะผู้ใช้สามารถทำอะไรได้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ

นาย O’Really ผู้ประดิษฐ์คำว่า Web2.0 ขึ้นมา ได้สร้างฟอรั่มซึ่งระบบผู้คนในวงการเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้สรุปนิยามของอินเทอร์เน็ตยุคนี้ไว้ว่า

… จะมีเวปเป็น “แพล็ทฟอร์ม”

… มี “ข้อมูล” เป็นพลังขับเคลื่อน (จริง ๆ ข้อนี้ไม่ใช่ของใหม่)

… การวางโครงสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมกันของผู้ใช้ ทำให้เกิดผลทวีทางเครือข่าย (คือยิ่งคนเข้าร่วมมากขึ้น ระบบเครือข่ายก็ยิ่งมีคุณค่าขึ้น)

… นวัตกรรม จะเกิดในกระบวนการประกอบ (assembly) ระบบต่าง ๆ หรือเวบไซต์หลายแห่งเข้าด้วยกัน โดยดึงเอาจุดเด่นต่าง ๆ ของนักพัฒนาหลาย ๆ คน มาผสมให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ (บางคนเรียกกระบวนการนี้ว่า Open Source Development หรือ Open Innovation)

… มีการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้น โดยอาศัยการหลอมรวมเนื้อหาและบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
อาจสรุปได้ว่าระบบเปิด และเครือข่ายทางสังคมนั้นก็เป็น “กระดูกหลัก” ของ Web2.0

หากลองดูรูปแบบเวปเครือข่ายทางสังคมบนเน็ทนั้น จะพบสารพัดรูปแบบมากมาย (เช่น MSN, Hi5, Myspace, Facebook, SecondLife ฯลฯ) ในหลายประเทศ (ที่ใหญ่ ๆ) ก็มีเวปเครือข่ายทางสังคมของตัวเอง

เพราะหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของอินเทอร์เน็ทคือ “เชื่อมโยง” มนุษย์ ให้สามารถ “ติดต่อ-สื่อสาร” กันได้

และมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคม (ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเจอกันตัวเป็น ๆ ถึงจะสังคมกันได้)

การเชื่อมโยงทางสังคมผ่านทางเน็ทนั้นไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มีนัยสำคัญหลายประการ
เพราะผมมองว่าหากเราสามารถเข้าใจพฤติกรรมใหม่ ๆ ผ่านช่องทางใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการเดิม ๆ ของมนุษย์ได้นั้น เราก็จะจินตนาการถึงความเป็นไปได้อีกสารพัดแบบ

ทิศทางสำคัญคือการโฆษณาและทำการตลาดออนไลน์ ที่กำลังลงหลักปักฐานในสภาพที่ผู้คนใช้เวลาในชีวิตเชื่อมต่อกับเวปเครือข่ายทางสังคมมากขึ้น

มองในภาพรวมเป็นเช่นนั้น ถ้ามองในภาพเฉพาะเจาะจงที่ผู้เล่นรายสำคัญ จะพบว่าต่างปรับตัว กล่าวคือ “เจ้าถิ่น” ต่างแผ่ขยายอาณาจักรมาทับพื้นที่กัน

อย่าง Google นั้น หลังครองความเป็นเจ้าในตลาดเซิร์ชเอนจิ้น จัดระเบียบข้อมูลทุกอย่างโลก ( ขยายตัวเป็น Big media Company รุกขายสื่อโฆษณาไปทั่วทุกหัวระแหง ล่าสุดเจรจาซื้อบ.โฆษณาหลายทาง (Doubleclick.com) ด้วยมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ และก็เล็งขยายธุรกิจซอฟแวร์ไปทับเจ้าพ่อใหญ่ Microsoft โดย Google นั้นจะทำเวป Service ให้บริการซอฟแวร์ผ่านเน็ท

ส่วน Microsoft นั้นก็ซื้อหุ้น Facebook หมดเงินไป … ล้านเหรียญ ได้ถือหุ้น … %

Facebook สร้าง Platform ระบบเปิดสำหรับโปรแกรมเมอร์

Myspace คู่แข่ง Facebook ก็จับมือกับ Google และคณะ เพื่อสร้างระบบเปิดของเวป Social Network

ส่วน Traditional Media Tycoon อย่าง Rupert Murdoch ซื้อ My Space ซื้อ Asian Wall Street Journal (เอาทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่) ก็พยายามนำละคร (ที่ถ้าเป็นแต่ก่อนก็น่าจะดังในโทรทัศน์) ไปฉายใน My Space
หรือสื่อสาธารณะอย่าง BBC ยังต้องเริ่มโฆษณาออนไลน์เลย

Apple นั้นหลังประสบความสำเร็จจาก iPod ก็รุกกร้าวทำมือถือ iPhone จนเป็น Talk of the Global Village และได้คัดเลือกเป็นสิ่งประดิษฐ์แห่งปีจากนิตยสาร Times

มีข่าวลือว่า Google จะทำ Gphone มือถือแบรนด์ตัวเอง … แต่ล่าสุดยังไม่เผยออกมา มีแต่ Android แพล็ทฟอร์มซอฟแวร์สำหรับมือถือ ที่พยายามดึงดูดโปรแกรมเมอร์ต่าง ๆ ให้เข้าร่วมกัน

ชัดเจนเลยว่าทั้งหมดหลอมรวมเข้าหากัน (Convergence)

ชิงไหวชิงพริบ จับขั้วพันธมิตรกันน่าดู

เรื่องราวของ Facebook ที่สาธยายกันมาถึง 3 ตอน เป็นบทสะท้อนถึงธุรกิจรายหนึ่งที่เกิดขึ้นมา และทวีมูลค่าอย่างรวดเร็ว

จากเวปที่เด็กนักศึกษาฮาร์วาร์ดอายุไม่ถึง 20 ปีดีทำขึ้น ดึงดูดผู้ใช้เข้ามามากมายรวดเร็ว พยายามปฏิวัติวงการโดยการทำให้เครือข่ายทางสังคมเป็นระบบเปิด ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการในมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจาก Yahoo ทิ้งไป

เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของโลกยุค Web2.0

ยุคที่อินเทอร์เน็ต จะเป็นมากกว่าที่เคยเป็นมา

Published in: on January 5, 2008 at 10:33 pm  Comments (7)  

ปรากฏการณ์ Facebook ตอน 1 : อาทิตย์ โกวิทวรางกูร

facebook1.jpg

ท่านผู้อ่านรู้จัก Mark Zuckerberg เปล่าครับ?

นิตยสาร economist บอกว่าเขากำลังถูกขนานนามว่าเป็น “Steve Jobs คนใหม่”
และผู้คนก็มองกันว่าบริษัทของเขา ซึ่งทำเวป http://www.facebook.com เป็น “Google รายต่อไป”
ยังไงเหรอ??

เพียง 3 ปี จากวันที่เขาเริ่มต้นเวปเครือข่ายสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เขาร่ำเรียนอยู่ จำนวนผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้เวป Facebook ก็ทะยานขึ้นไปถึงเกือบ 20 ล้านคน

ผู้ใช้นั้นก็หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากวันแรกที่สงวนสิทธิเฉพาะนักศึกษาฮาร์วาร์ด ขยายวงไปสู่มหาลัยฯอื่น ๆ ในอเมริกา จนปัจจุบันพนักงานหน่วยงานราชการหลายแห่งเป็นสมาชิก รวมไปถึงบรรดาผู้บริหารในบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ด้วย
ที่น่าทึ่งกว่าคือ “มากกว่าครึ่งหนึ่ง” ของผู้ลงทะเบียนนั้นเข้าเวป Facebook ทุกวัน

ไม่ใช่ลงทะเบียนทิ้งไว้เฉย ๆ

Facebook คืออะไร?

Facebook เป็นเวปเครือข่ายทางสังคมที่เติบโตรวดเร็วมาก แม้ว่าเวปด้านนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ Myspace แต่ก็เมื่อถูกซื้อไปแล้วโดยรูเพิร์ต เมอร์ดอก เวป Facebook ก็ถูกจับตามองอย่างไม่กระพริบ

มีข่าวของการเสนอซื้อเวปนี้จาก Yahoo ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทว่าเจ้าของ Facebook ปฏิเสธ

หลายคนมองว่าเขาคงรอจังหวะที่ราคาดีกว่านี้

แต่หากไปถามนายซักเคอร์เบอร์กดู จะได้คำตอบที่แตกต่าง

“I’m here to build something for the long term” เขากล่าว

“Anything else is a distraction”

ลองย้อนดูเส้นทางชีวิตของนาย Zuckerberg ดู จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าเขากำลังคิดและทำอะไรอยู่

ซักเคอร์เบอร์ก นั้นเป็นคนอเมริกันเชื้อสายยิว เกิดและเติบโตขึ้นที่นิวยอร์ค เริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อยู่เกรด 6 เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ไบรท์มาก ๆ คนหนึ่ง

ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ไฮสกูล ซักเคอร์เบอร์กและเพื่อนของเขาคือนาย Adam D’Angelo ได้เขียนซอฟแวร์ขึ้นมาตัวหนึ่งชื่อว่า Synapse Media Player ซึ่งเมื่อนำไปติดตั้งกับเครื่องเล่น MP3 แล้ว จะช่วยให้เครื่องสามารถพยากรณ์เพลงที่ผู้ใช้ชอบฟังได้ โดยเดาผ่านการเลือกเพลงก่อนหน้านั้น

ปรากฏว่าบริษัทซอฟท์แวร์หลายแห่งสนใจ และเสนองานให้พวกเขาทั้งสองทำ หนึ่งในนั้นคือ ไมโครซอฟท์ ทว่าทั้งคู่ปฏิเสธไป และแยกย้ายมุ่งหน้าไปเข้ามหาวิทยาลัยที่พวกเขาต้องการ

เขามีมุมมองที่แตกต่างต่อการสร้างธุรกิจ

เขาและเพื่อนสนิทอีกสองคน – หนึ่ง คือเพื่อนร่วมห้องที่ฮาร์วาร์ดอย่างนาย Dustin Moskovitz (ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และดำรงตำแหน่ง VP ทางด้านวิศวกรรม) และ Adam D’Angelo เพื่อนสมัยไฮสกูล (ซึ่งปัจจุบันเป็น chief technology officer) นั้น มีความใฝ่ฝันอันสูงสุด

พวกเขาเชื่อมั่นว่า “การเปิดกว้าง” (openness) ความร่วมมือร่วมใจ (collaboration) และการแบ่งปันสารสนเทศ (sharing of information) ผ่านระบบเครือข่ายทางสังคม (Social Network) จะช่วยทำให้โลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
นี่เป็นรากฐานทางความคิดในการสร้าง Facebook

ตอนหน้าจะขอลงรายละเอียดต่อ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจเยอะเหลือเกิน

พร้อมทั้งเฉลยคำตอบว่า เขาเหมือน Steve Jobs ยังไง? และเป็นดั่ง Google ได้รึเปล่า?

Published in: on January 2, 2008 at 12:01 am  Comments (10)