คอตเลอร์พูดถึงแบรนด์

อะไรคือเหตุผลที่อธิบายว่าในทศวรรษที่ผ่านมาจึงมีการพูดถึงแบรนด์อย่างเกินจริง

แบรนด์คือแนวป้องกันสำคัญต่อการแข่งขันด้านราคา

แบรนด์อันแข็งแกร่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความสะดวกสบายอีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์คุณภาพที่เหนือกว่าาแบรนด์ที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า

ผู้คนยินดีซื้อของแพงสำหรับแบรนด์แข็งแกร่ง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าแบรนด์มิได้แข็งแกร่งเพียงเพราะทุ่มงบโฆษณา

ความแข็งแกร่งที่สุดของแบรนด์มีพื้นฐานจากสมรรถนะ มิใช่การโปรโมชั่น

พูดได้ว่าแบรนด์หนึ่งๆถูกสร้างโดยโฆษณาและประชาสัมพันธ์และสุดท้ายแบรนด์จะถูกธำรงไว้ด้วยสมรรถนะของแบรนด์

บริษัททั้งหลายทั้งปวงล้วนตระหนักดีว่าในสภาพการแข่งขันรุนแรง หากจะได้รับความสนใจและการยอมรับนับถือต้องมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง

แบรนด์คือคำมั่นสัญญาต่อคุณค่า(a brand is a promise of value)

มันกลายเป็นแนวคิดสำหรับกิจกรรมต่อทุกบริษัทที่ล้อมรอบแบรนด์นั้นๆอยู่

ดังนั้น ถ้าโมโตโรลล่าอ้างว่าคุณภาพของตนคือ Six Sigma(ชำรุดเพียง 3 ตัวใน 1 ล้านตัว) ดังนั้นทุกๆกิจกรรมจะต้องถูกจัดวางเพื่อให้สามารถนำส่งตามคำมั่นสัญญาให้ได้ เมื่อนักการตลาดเริ่มมองเห็นแต่ละแบรนด์ในฐานะสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละปริมณฑลความชื่นชอบของลูกค้า จากนั้นพวกเขาจะตระหนักถึงความต้องการของการก้าวข้ามจาก 4Ps ของสินค้า ราคา ช่องทางจำหน่ายและการส่งเสริมการขาย

The brand become the strategy lever and activity organizer for the company’s efforts in the marketplace.

แบรนด์ที่ประบสบความสำเร็จจะเคลื่อนย้ายโค้งของดีมานด์ไปทางซ้าย ทำให้บริษัทสามารถขายสินค้าในราคาเดิมได้มากขึ้น หรือขายแพงขึ้นในปริมาณเท่าเดิม

Published in: on June 27, 2007 at 5:13 pm  Comments (9)  

แบรนด์ที่ชื่อ……ประเทศไทย –ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

กว่าจะทันตั้งตัว….. ก็สายเสียแล้ว

ประโยคข้างบนดังกล่าวถือเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมครับ ต่อสิ่งที่ผมรู้สึกต่อปรากฎการณ์หลายเรื่องที่เกิดขึ้น ณ ประเทศไทยแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศไทย

แดจังกึม เป็นตัวอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกว่า หากประเทศไทยไม่พยายามสร้างแบรนด์ของตนให้เข้มแข็ง ในรูปแบบรวมพลังแล้ว คำว่า “ไทยแลนด์” คงผงาดในเวทีโลกยากครับ

วันนี้ คนหลายประเทศและ 1 ในนั้นคือคนไทยรู้จักประเทศเกาหลีมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารเกาหลีจากละครโทรทัศน์ “แดจังกึม” ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการทำอาหารของเกาหลี อำนวยการสร้างโดยภาคเอกชนแต่เป็นการขานรับนโยบายจากภาครัฐ ถือเป็นการรวมยุทธศาสตร์ภาครัฐและเอกชนในการขยายทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบ “ละคร” ได้อย่างแนบเนียนและที่สำคัญได้อรรถรสในการชมแบบไม่น่ารังเกียจ

วันนี้ “อาหารเกาหลี” จึงกลายเป็นเมนูที่คนดู “แดจังกึม”อยากชิมมากที่สุด

วันนี้ “เด็กไทยรุ่นใหม่” หลายคนรู้จักที่มาของอาหารเกาหลีมากกว่าอาหารไทยจาก “แดจังกึม”

ผมไม่แน่ใจว่าผลสะท้อนที่ออกมามากกว่าเรตติ้งของผู้ชม ทางผู้ใหญ่ของบ้านเราเริ่มนำมาคิดวิเคราะห์และศึกษาเป็นแบบอย่างหรือไม่ ???

รัฐบาลประกาศนโยบาย “ครัวไทย ครัวโลก” ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าคนทั่วโลกรู้จักอาหารไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญรู้จักแล้วอยากลิ้มลองรสชาติอาหารไทย มากน้อยขนาดไหน

ผมเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลใช้ในขณะนี้ ไม่ว่าการ สนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายกิจการร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น การใช้วัตถุดิบภายในประเทศที่ได้รับการควบคุมตรวจสอบ การปรุงอาหารตามตำรับไทยแท้โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้คนต่างชาติอยากชิมอาหารไทย โดยตัดสินใจเป็นอาหารมื้อพิเศษนอกบ้านในวันไม่ธรรมดาครับ

ต่อให้มีร้านอาหารไทยขึ้น เป็นดอกเห็ดทุกหัวมุมถนนในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเหมือนแมคโดนัล แต่คนต่างชาติไม่รู้สึกอยากลิ้มลองแล้ว คงไม่มีประโยชน์ครับ

ทุกวันนี้คนต่างชาติรู้จักแต่ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ทั้งๆ ที่อาหารไทยมีอีกมากมาย และหากได้เห็นกรรมวิธีการทำอาหารไทยจากสาวไทย ผมเชื่อว่าคนที่รู้จักอาหารเกาหลีจาก”แดจังกึม” ต้องลืมอาหารเกาหลี ฝันถึงแต่อาหารไทยจากแม่ครัวไทยที่อ่อนช้อยครับ

ถึงเวลาแล้วครับ ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน หากต้องการสร้างแบรนด์ไทยให้รู้จักไปทั่วโลก และไม่ได้หยุดแค่รู้จัก แต่เป็นทางเลือกอันดับแรกในการตัดสินใจ และที่สำคัญในส่วนของภาครัฐด้วยกันเองคือ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้เปิดประตูโลก และกระทรวงวัฒนธรรมต้นเรื่องในการขายทุนทางวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะอาหารเท่านั้น ต้องร่วมพลังในการสร้างแบรนด์ไทย

หากเปรียบเทียบแบบหมัดต่อหมัดแล้ว ถือว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมายกว่าประเทศคู่แข่งที่จ้องขายวัฒนธรรมหลายเท่า ด้วยเพราะความมีรากเหง้าของประเทศที่สะสมมานาน เพียงแต่การร่วมมือประสานของเจ้าของต้นทุนในแต่ละเรื่อง ยังหาได้ยากในสังคมไทย

ยังไม่สายครับ ที่จะปรับกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ใหม่ต่อการสร้างภาพลักษณ์ให้รู้สึกถวิลหา มากกว่าการยัดเหยียดจนเกิดปฎิกิริยาตอบกลับในเชิงลบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อในทฤษฎีที่ว่า “ของดีจริงทำไมต้องโฆษณา” ทั้งๆ ที่ในโลกของความเป็นจริงแบรนด์ที่ได้รับการนิยมยังต้องมีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อ “สร้างการตระหนักรู้” อยู่ตลอดเวลา

ผมคิดว่า “แดจังกึม” น่าเป็นทางออกที่ดีให้กับนโยบายครัวโลกของรัฐบาลครับ

ลองทุ่มเงินอีกสักก้อน สร้างหนังไทยที่บอกถึงตำนานอาหารไทยที่แม้แต่คนไทยด้วยกันเองยังไม่รู้ ถึงวันนั้นอย่าว่าแต่ชาวต่างชาติอยากชิมอาหารไทย แม้แต่เด็กโจ๋ตาดำ หัวแดง สัญชาติไทยอาจเปลี่ยนใจมาแฮงค์ตามร้านส้มตำไทยก็ได้ครับ

ผมพอจะนึกถึงพล็อตเรื่องคร่าวๆ จากกาพย์เห่เรือ เห่ชมเครื่องคาวของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เคยท่องสมัยละอ่อนครับ

มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ

Published in: on June 26, 2007 at 12:02 pm  Comments (13)  

เหยี่ยว VS พิราบ ตอน 2

แนวคิดเรื่อง “สายเหยี่ยว” และ “สายพิราบ” ระบาดไปทั่วทุกวงการ

กระทั่งคัมภีร์โบราณที่ใช้ศึกษาเพื่อบริหารธุรกิจก็เป็นการสัประยุทธ์กันระหว่างสายเหยี่ยวและสายพิราบด้วยเช่นกัน

ก็อย่างรู้กันมานานแล้วว่า การทำธุรกิจนั้นก็เปรียบเสมือนกับการทำสงคราม

ดังนั้นคู่มือในการเอาชนะสงครามก็คือพิชัยสงครามซุนวู หรือที่ฝรั่งรู้จักกันดีในชื่อ The Art of War

คัมภีร์พิชัยสงครามซุนวูนั้นโด่งดังมากในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา เพราะเป็นยุคที่สายเหยี่ยวที่เน้นการบดขยี้คู่แข่งเป็นผู้ประสบชัยชนะ

อย่างไรก็ตามหลังจากอินเดียโดดเด่นขึ้นมาตีคู่กับจีนนั้น สิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาด้วยก็คือวิทยาการจากอินเดีย ซึ่งถูกเผยแผ่โดยผู้รู้จากอินเดีย หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจเชื้อสายอินเดีย

ในโลกเอ็มบีเอนั้น กูรูส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง หาเอเชียได้น้อยนักที่จะเบียดเสียดในทำเนียบกูรู

ดูเหมือนจะมีเพียงเคนอิชิ โอมาเอะ ชาวญี่ปุ่นเท่านั้นกระมังที่สามารถเรียกขานได้

นอกจากนี้แล้ว ก็ล้วนแล้งแต่เป็นกูรูอินเดียแทบทั้งสิ้น

ในบรรดากูรูอินเดียผู้โด่งดังนั้นเห็นจะไม่มีใครเกิน ซี.เค.พาฮาลัด

พาฮาลัดโด่งดังขึ้นมาพร้อมๆกับแกรี่ ฮาเมล จากการเขียนหนังสือร่วมกันเล่มเดียว

หนังสือเล่มนั้นคือ Competing for The Future ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1994

จริงๆก่อนหน้านั้นทั้งสองเขียนบทความร่วมกันหลายชิ้น แต่ละชิ้นก็สร้างแนวความคิดใหม่ในแวดวงวิชาการด้านกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น Core Competency หรือ Strategic Intent

หนังสือสองเล่มล่าสุดของเขา Fortune at the Bottom of Pyramid และ The Future of Competition: Co-Creating Unique Value with Customersดังและประสบความสำเร็จมาก

เล่มแรกนั้นพาฮาลัดบอกว่าตลาดคนจนไม่ได้เป็นภาระเสมอไป มองให้ดีและหาโอกาสให้ดี นั่นแหละจะกลายเป็นขุมทรัพย์ ส่วนเล่มสองนั้น เขาชี้ให้เห็นว่าบริษัทสามารถร่วมคิด ร่วมสร้างกับผลิตภัณฑ์และบริการกับลูกค้าและจะประสบความสำเร็จได้ด้วยการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของคนจน

แนวความคิดของพาฮาลัดมีอิทธิพลต่อบริษัทต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น โนเกีย เมื่อหลายปีก่อนประสบปัญหา ส่วนแบ่งตลาดลดลง เพราะไม่สนใจที่จะพัฒนาโทรศัพท์แบบฝาพับ ปล่อยให้ซัมซุงกลายเป็นเจ้าตลาดฝาพับไปอย่างน่าเสียดาย

วันนี้โนเกียคืนสู่ความเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่ง เพราะการโดดเข้าไปทำตลาดมือถือคนจนในประเทศอินเดียและจีน เพราะตลาดใหญ่มหาศาล

นอกจากพาฮาลัดแล้วก็ยังมีกูรูชาวภรตะอีกหลายคนที่มาแรง อย่างเช่น Ram Charan ที่เขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม ที่ดังๆก็คือ Execution เพราะจับคู่กับลาร์ลี่ บอสสิดี้

Rakesh Khurana นี่ก็ดังพอตัวที่ฮาร์เวิร์ด บิสสิเนส สกูล ที่ดังขึ้นมาก็เพราะเขาเป็นคนชี้ให้เห็นว่าบริษัททำผิดแล้วที่ไล่ตามหาผู้นำที่มีบารมี

Vijay Govindarajan ศาสตราจารย์ของ Dartmouth ซึ่งเป็นได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะกูรูนวัตกรรม

กูรูชาวภารตะเหล่านี้ล้วนได้รับอิทธิพลจากปรัชญาอินเดียโบราณ

และหนึ่งในคัมภีร์โบราณที่ถูกนำมาประยุกต์กับการจัดการและเป็นคู่แข่งสำคัญของ The Art Of War ก็คือคัมภีร์ภควัทคีตา

คัมภีร์ภควัทคีตานี้เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นมหากาพย์เรื่องสำคัญที่สุดของอินเดีย

เรียกว่าถ้าอยากเข้าใจอินเดียก็ต้องอ่านมหากาพย์มหาภารตะ

เนื้อเรื่องของมหากาพย์มหาภารตะ พรรณนาถึงสงครามขับเคี่ยวกันสองตระกูล คือตระกูลเการพและตระกูลปาณฑพ

สองตระกูลนี้สืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกันคือท้าวภรต

การรบกันเพื่อแย่งชิงแผ่นดิน

ฝ่ายเการพคือผู้ร้าย

ฝ่ายปาณฑพ คือพระเอก

ในมหากาพย์มหาภารตะมีพระกฤษณะคือพระนารายณ์อวตารเป็นปางที่ 8 คอยช่วยเหลืออรชุนซึ่งเป็นตัวเอกของฝ่ายปาณฑพ

หัวใจสำคัญของมหากาพย์มหาภารตะ คือสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้ๆกรุงนิวเฮลดี

การรบเป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านถึง 18 วัน ตายกันเป็นเบือ

สุดท้ายฝ่ายปาณฑพชนะ

คัมภีร์ภควัทคีตาเริ่มต้นด้วยบทสนทนาระหว่างอรชุนซึ่งเป็นแม่ทัพฝ่ายปาณฑพ และกฤษณะซึ่งเป็นอวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ ซึ่งทำหน้าที่สารถีให้อรชุน

ก่อนการสัประยุทธ์ครั้งสำคัญจะเริ่มต้นนั้น อรชุนอยู่ในสภาวะลังเล เพราะการรบพุ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นประหัตประหารกันเองพี่น้อง อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย

ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของอรชุนนี้ ทำให้อรชุนไม่อาจทำศึกได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าฝ่ายปาณฑพจะประสบความพ่ายแพ้

พระกฤษณะซึ่งเป็นพระนารายณ์อวตารปางที่แปดจึงต้องสำแดงร่างที่แท้จริงของพระองค์ และแสดงธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ จนกระทั่งอรชุนตัดสินใจรบ จนนำมาซึ่งชัยชนะของฝ่ายเการพ

พระคัมภีร์นี้เองที่มีอิทธิพลต่อเหล่ากูรูอินเดียที่สอนด้านการจัดการและการตลาดในโรงเรียนเอ็มบีเอทั้งหลาย

หัวใจสำคัญของภควัทคีตาก็คือ ผู้นำที่รู้แจ้งเห็นจริงนั้นต้องสามารถขจัดอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจในห้วงยามวิกฤต

ท่านเนรูห์กล่าวถึงคัมภีร์นี้ว่า “ในยามที่เกิดวิกฤต เมื่อจิตใจของมนุษย์ได้รับความทรมานจากความสงสัย และต้องกระจัดกระจายสลายลงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในภาระหน้าที่ มนุษยชาติก็มุ่งหน้าพึ่งพิงภควัทคีตามากกว่าปกติ เพื่อแสวงหาแสงสว่างและข้อแนะนำให้หลุดพ้ยจากวิกฤต ทั้งนี้เพราะภควัทคีตาเป็นกาพย์แห่งวิกฤตกาล เป็นกาพย์แห่งวิกฤตทั้งในทางการเมืองและสังคม และยิ่งกว่านั้นก็คือเป็นกาพย์แห่งวิกฤตกาลของวิญญาณมนุษยชาติ”

เมื่อถูกตีความโดยกูรูการจัดการนั้น คัมภีร์ภควัทคีตา บ่งชี้ว่า “ผู้นำที่แท้ต้องไม่ยึดติดกับตัวกู ของกู เป็นผู้ริเริ่ม และเน้นไปที่หน้าที่มากกว่าจะสนใจผลตอบแทน”

หัวใจสำคัญก็คือ การให้เอาหน้าที่เป็นหลัก เอาตัวตนเป็นรอง ซึ่งตรงนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผู้นำองค์กรในปัจจุบันได้” Ram Charan กล่าว

เขียนมาถึงตรงนี้ก็ต้องถามว่าผู้นำไทยไม่รู้ว่าได้อ่านภควัทคีตากันบ้างหรือเปล่า

Published in: on June 22, 2007 at 1:32 am  Comments (4)  

สายเหยี่ยว VS สายพิราบ ตอน 1

หลายเดือนก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้าเศรษฐกิจ เห็นข่าว อ.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ขึ้นพูดราว 15 นาทีที่เวทีที่จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รู้สึกว่าน่าสนใจ

ดร.สุวิทย์ โดยได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงทัศนคติของผู้บริหารในคณะรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีความคิดว่า “I’m ok. You’re not ok.” คือ คิดว่าตัวเองโอเค แต่คนอื่นไม่โอเคไปหมด ซึ่งจับผิดการดำเนินการในทุกๆนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน โดยมองว่าทุกๆเรื่องไม่ดีไปหมด ทั้งๆที่สิ่งใดที่ดีก็ควรทำต่อไป ไม่ใช่ไปแก้ไขทั้งหมด หรืออะไรที่ดีแล้วก็ยังไปเปลี่ยนชื่อโครงการ

อดีตผู้ช่วยรมว.พาณิชย์ บอกว่าทัศนคติของผู้บริหารในรัฐบาลชุดใหม่ เป็นทัศนคติที่หลงทาง ทางด้านอคติ จึงอยากให้เปลี่ยนใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ไม่ได้ และขอให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และคิดให้ลึกซึ้ง โดยขอให้รัฐบาลรู้จักการแยกแยะ ไม่ใช่ แบ่งแยก เพราะถ้าหากสังคมกลายเป็นสังคมแบ่งแยกจะเท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง

วิธีคิดแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของเอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน กูรูด้านความคิด หนังสือเล่มนั้นคือ I Am Right-You Are Wrong ฉันถูก เธอผิด ทำนองนั้น ซึ่งผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ กำลังแพร่ระบาดในสังคมไทย

ก่อนหน้าการรัฐประหาร วิธีคิดแบบนี้ก็เริ่มแพร่ระบาดมากขึ้น เพราะประเทศแบ่งออกเป็นสองฝั่ง แต่ละฝั่งก็มุ่งประหัตประหารกันทางความคิด ทางวาจา และถึงกับลงไม้ลงมือกันก็มี

จริงๆผมคิดว่าเมื่อมีการปฏิวัติ ก็น่าจะสมานฉันท์กันได้ เพราะตอนทักษิณยังเป็นนายกฯ ก็ประท้วงกันไม่เว้นแต่ละวัน

ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีผู้ชี้แนะว่า “ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี” จึงจะแก้ปัญหาได้

สาเหตุที่ปัญหารุนแรงจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะทักษิณสั่งเลิกศอบต.และใช้ความรุนแรงจัดการปัญหา

วิธีแก้ก็คือใช้ความละมุนละม่อม หรือใช้แนวทางสายพิราบ เริ่มต้นด้วยการขอโทษอย่างเป็นทางการจากปากนายกรัฐมนตรี จากนั้นตั้งศอบต.ขึ้นมาใหม่ ตามด้วยการถอนฟ้องคดีต่างๆ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การก่อการร้ายและฆ่ากันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ลดลงเลย ตรงกันข้ามกลับรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ใช่หรือไม่ว่าเรากำลังใช้สายพิราบสู้กับสายเหยี่ยว หลังจากที่ล้มเหลวจากการใช้สายเหยี่ยวสัประยุทธ์มาแล้ว

โลกเราทุกวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดก็ตาม เห็นทีจะหนีไม่พ้นสายเหยี่ยวและสายพิราบ กระทั่งผู้ดำเนินรายการคุยคุ้ยข่าว สรยุทธ์ นี่สายเหยี่ยว ส่วนกนก แน่นอนว่าสายพิราบ

หนังสือธุรกิจที่ดังระเบิดเถิดเทิงอยู่ในเวลานี้ Blue Ocean Strategy ที่สอนให้คนวิ่งหนีตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นทะเลเลือด เพราะจะห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน สุดท้ายจะจบลงด้วยการตัดราคา ผู้เล่นที่มีสายป่านยาวที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เลยเสนอแนวความคิดใหม่ว่า ต้องเข้าไปหาทะเลสีคราม ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่มีการแข่งขัน มีดีมานด์ แต่ไร้ซัพพลาย ดังนั้นใครเข้าตลาดนี้ก่อน ก็กินคนเดียว

ทว่าไม่นาน ก็จะกลายเป็นทะเลแดง เช่นเดียวกับโรตีบอยที่เผชิญมาแล้ว

Published in: on June 21, 2007 at 1:03 am  Comments (14)  

โมลาซูและชาง เมนเตอร์ 3

หนังเกาหลีอีกเรื่องนึงที่ดังมากๆเมื่อสองสามเดือนก่อน ซึ่งผมอยากจะเขียนยาวๆสักตอน คือเรื่องซอดองโย สายใยรักสองแผ่นดิน

เรื่องนี้ยาวมากและสนุกมากๆ แม้จะไม่ดังเท่าแดจังกึม ทว่าดังมากๆทีเดียว

ซอดองโยเป็นประวัติชีวิตการต่อสู้ของพระเจ้ามูชาง กษัตริย์แคว้นพักเจที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง

พักเจเป็นหนึ่งในสามแคว้นของเกาหลี ก่อนหน้าการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว

พระเจ้ามูชางเป็นกษัตริย์ที่เกิดจากนางรำยอนกาโม ทำให้ต้องใช้ชีวิตธรรมดาอย่างระหกระเหิน กว่าจะขึ้นครองบัลลังก์ได้ก็เกือบตาย

ยอนกาโมแม่ของชางนั้นเป็นอดีตคู่หมั้นของโมลาซู ซึ่งเป็นหัวหน้าโรงฝึกช่าง ซึ่งเป็นแหล่งประดิษฐ์คิดค้นของพักเจ และเป็นฐานอำนาจสำคัญของกษัตริย์พักเจ

ยอนกาโมเอาลูกมาฝากแฟนเก่าให้ฝึกปรือ โดยตัวเองก็บอกมาไม่ได้ว่าชางคือลูกกษัตริย์

การนำลูกมาฝากโมลาซู ซึ่งรู้ว่าเป็นยอดฝีมือในด้านการประดิษฐ์คิดค้น ก็เหมือนกับโอเดสซิอุสฝากลูกไว้กับเมนเตอร์ให้เลี้ยงดูนั่นเอง

ทว่าชางไม่ได้โชคดีเหมือนลูกโอเดสซิอุส เพราะโมลาซูยังติดใจที่แฟนเก่าเลิกกับตัวเองไปท้องกับใครก็ไม่รู้ จากนั้นส่งลูกมาให้ตัวเองฝึกวิทยายุทธ์ แต่ชางก็ถูลู่ถูกังอยู่กับโมลาซูมาโดยตลอด ตามคำสั่งเสียของแม่และเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนมี
ความสามารถ

ความสัมพันธ์ระหว่างโมลาซูและชางพัฒนาลึกซึ้งไปเรื่อยๆ

โมลาซูถ่ายทอดทุกอย่างให้ชาง ขณะเดียวกับชางก็เหมือนจังกึมคือมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ สามารถต่อยอดไปไกลได้มากกว่าอาจารย์เสียอีก

ความสำคัญของโมลาซูที่มีต่อชางนั้นมากเสียจนกระทั่ง มีอยู่ตอนหนึ่งที่คิดกันว่าโมลาซูตายไปแล้ว ชางถามตัวเองว่า “จะอยู่ได้อย่างไรถ้าโลกไม่มีอาจารย์แล้ว”

โมลาซูจึงเป็นมากกว่าอาจารย์และเมนเตอร์

ลึกซึ้งไปถึงขั้นเป็นพ่อลูกกันเลย

ก็เหมือนกับจังกึมและฮันซังกุง นั่นเอง

เมนเตอร์จะเป็นหัวใจความสำเร็จในยามที่เราตกระกำลำบาก

พวกเขาจะรู้จักเราแบบทะลุปรุโปร่ง

พวกเขาหวังดีกับเราโดยไม่ต้องการผลตอบแทน

จะชี้สว่าง

ประคับประคอง

และฉุดเราให้พ้นจากหุบเหว

คุณล่ะ

ใครเป็นเมนเตอร์ของคุณ

Published in: on June 19, 2007 at 2:31 am  Comments (16)  

ฮันซังกุงและแดจังกึม

หวังว่าทุกท่านคงจำละครเกาหลี แดจังกึมกันได้นะครับ

ผมไม่ได้ดูแดจังกึมตั้งแต่แรก เพิ่งมาดูตอนที่เริ่มดังแล้ว ตอนแรกยังเรียกชื่อผิดเสียด้วยซ้ำ

แดจังกึมมีแง่มุมให้ศึกษาเยอะมากๆ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับแดจังกึมลงมติชนรายวันถึงสามตอน แต่มีอยู่ประเด็นนึงที่ผมไม่ได้กล่าวถึงทั้งที่สำคัญมากๆ

นั่นคือบทบาทของฮันซังกุง

แม่ของแดจังกึมสั่งเสียก่อนตายไว้ว่า ขอให้ก้าวขึ้นไปเป็นซังกุงสูงสุดให้ได้ แดจังกึมปฏิบัติตามคำของแม่อย่างเคร่งครัด นั่นคือทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าวังให้ได้ ไม่งั้นไม่มีโอกาสเป็นซังกุงสูงสุดได้เป็นแน่

ดูแดจังกึมแล้วก็จะเห็นได้ว่าทำไมเกาหลีถึงได้ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ทำเลที่ตั้ง ภัยธรรมชาติและการถูกยึดครองจากญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคแทบทั้งสิ้น หรือเพราะแรงกดดันจากอุปสรรคเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้คนเกาหลีฮึดสู้อย่างแดจังกึม

เมื่อเข้าวังได้แล้ว แดจังกึมก็พยายามอย่างหนัก เพราะตนไม่มีเส้นสายเหมือนอย่างหลานแชงซังกุง เพราะรายนั้นตระกูลเป็นซังกุงสูงสุดมาหลายชั่วอายุคน

ทว่าด้วยความมานะพยายามและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้แดจังกึมสามารถถีบตัวเองได้ทั้งที่ฐานไม่ดี

การที่แดจังกึมก้าวขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วนั้นส่วนหนึ่งเพราะได้ลูกพี่ดี

นั่นคือฮันซังกุง

ฮันซังกุงเป็นเพื่อนแม่แดจังกึม ตอนแรกที่เจอกันก็ไม่รู้หรอก ฮันซังกุงก็เคี่ยวเข็ญและพร่ำสอนลูกเพื่อนมาตั้งนานโดยไม่รู้ แต่ถึงแม่จะไม่ใช่ลูกเพื่อน ฮันซังกุง(ซึ่งไม่ได้มีเส้นสายและสืบตระกูลผู้ดีอะไร) ก็เอ็นดูแดจังกึมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

คงเป็นเพราะดวงสมพงษ์กันก็ได้ล่ะกระมัง

ฮันซังกุงได้แดจังกึมเป็นผู้ช่วย ทำให้ทำงานสบายขึ้น เพราะจังกึมเก่งและขยันมาก

ตอนที่แข่งขันกับแชซังกุงเพื่อเลือกตำแหน่งซังกุงสูงสุดนั้น ฮันซังกุงระบุว่าให้จังกึมเป็นผู้ช่วย เพราะฮันซังกุงเชื่อมั่นและเชื่อมือจังกึม แม้ว่าในเวลานั้นปุ่มรับรู้รสของจังกึมจะใช้การไม่ได้ แต่ฮันซังกุงก็เชื่อมั่นว่าจังกึมต้องทำได้

ซึ่งจังกึมก็ทำได้จริงๆ เพราะเธอเป็นคนที่มีจินตนาการ

เมื่อฮันซังกุงชนะการแข่งขัน เธอก็ไม่ได้รับเครดิตนั้นเสียเองทั้งหมด กลับบอกว่าเป็นเพราะผลงานของจังกึม

ก่อนการแข่งขันฮันซังกุงบอกก่อนเสียด้วยซ้ำว่า ขาดจังกึมไปไม่ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างจังกึมและฮันซังกุง(ซึ่งต่อมาแพ้ภัยทางการเมือง จนเสียชีวิตในที่สุด) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเมนเตอร์และลูกน้องคนสนิท

ลักษณะการดูแลจังกึมนั้นเรียกว่า Mentoring คือดูแลใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งกว่าการ Coaching ทั่วๆไป

เพราะเมนเตอร์นั้นต้องหวังดี ถ่ายทอดวิชา และเก็บความดีความชอบเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวด้วย

อย่างไรก็ตาม ความผูกพันของจังกึมและฮันซังกุงนั้นประดุจแม่กับลูก

นั่นคือเป็นยิ่งกว่าเมนเตอร์ทั่วๆไป

ดังนั้นหลังจากฮันซังกุงแพ้ภัยทางการเมือง จนถูกเนรเทศ แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว สิ้นใจกลางทางนั้น ทำให้จังกึมแค้นมาก และบอกกับตัวเองงว่าจะกลับมาเอาคืนพวกใจเหี้ยมทั้งหลายให้ได้

Published in: on June 18, 2007 at 1:36 am  Comments (12)  

ใครคือเมนเตอร์ ตอนพระนเรศวร

มหาเถรคันฉ่องและพระนเรศวร

มหาเถรคันฉ่องเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พระเจ้าบุเรงนองเคารพนับถือมาก เมื่อมีปัญหาอะไร บุเรงนองจะขอคำปรึกษาอยู่เนืองๆ

บุเรงนองนั้นรักและเอ็นดูสมเด็จพระนเรศวรมากๆ จึงมอบหน้าที่ในการกล่อมเกลาเลี้ยงดูให้มหาเถรคันฉ่องที่พระองค์ไว้วางพระทัย

มหาเถรคันฉ่องนั้น น่าจะเป็นมอญ ดังนั้นความภักดีต่อพม่านั้น คงไม่ แต่ผูกพันกับคนมากกว่า หมายความว่าหมดยุคบุเรงนองแล้ว ก็คงหมดกัน

ในภาพยนตร์นั้นมหาเถรคันฉ่องพบพระนเรศวรตอนแรก(ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ตอนที่มากับบุญทิ้ง มหาเถรฯบอกว่าจะสอนการใช้เคียว บุญทิ้งยังบ่นว่าเคียวจะไปทำอะไรได้ มหาเถรฯก็ขว้างเคียวเฉี่ยวหน้าบุญทิ้งไป และบอกว่าถ้ารู้วิธีใช้ก็เป็นอาวุธได้

มหาเถรคันฉ่องไม่เพียงถ่ายทอดวิทยายุทธ์และพิชัยสงครามเท่านั้น หากยังสอนการปกครองคนอีกต่างหาก

ตอนที่พระนเรศวรหนีกลับไทยนั้น มหาเถรฯยังถอดจิตตามมาสอนเรื่องการครองใจคน

ภาคสองเมื่อพระนเรศวรกลับมาพม่า ช่วยตีเมืองคัง แต่มังสามเกียดปองร้าย ก็ได้มหาเถรฯเตือนภัย

และเมื่อพระราชมนูมีภัย มหาเถรฯก็บอกพระนเรศวรให้ไปช่วย

กล่าวได้ว่ามหาเถรคันฉ่องคือเมนเตอร์ของพระองค์

และมหาเถรคันฉ่องนี่แหละที่เป็นหนึ่งในหัวใจความสำเร็จ

Published in: on June 15, 2007 at 11:59 am  Comments (9)  

ใครคือ Mentor ของคุณ ตอน 1

ผมเคยบทความชิ้นหนึ่งเมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษมาแล้ว ในนิตยสารจีเอ็มนี่แหละ

บทความชิ้นนั้นชื่อ “ Mentor แปลว่ากุนซือ”

จำได้ว่าช่วงนั้น สามก๊กที่ฉายทางช่องเก้ากำลังดังมากๆ ผมเลยแปลว่ากุนซือ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ ทว่าช่วงนั้นกำลังอินกับสามก๊ก ก็เลยแปลไปตามนั้น

จริงๆคำว่า Mentor นั้น มีที่มาจากเทพปกรณัมกรีกยุคโบราณ ในช่วงที่นครรัฐต่างๆในกรีก ต่างบ่ายหน้าไปรบกับกรุงทรอย เพราะเจ้าชายปารีสแย่งนางเฮเลนจากผู้ครองนครรัฐองค์หนึ่งของกรีกไป

สงครามระหว่งกรีกและทรอย ส่วนใหญ่ก็คงจะรู้กันแล้ว ไม่ขอเล่าซ้ำ

ในบรรดาผู้ครองนครรัฐของกรีกนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่าเจ้าปัญญามากที่สุดก็คือ Odysseus ผู้ครองนครรัฐ Ithaca

หลังจากที่ Odysseus ไปรบที่กรุงทรอยก็ฝากลูกที่ชื่อ Telemachus ไว้กับ Mentor ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท

Odysseus จากบ้านเมืองไปนานนับสิบปี แม้จะชนะสงคราม ถล่มกรุงทรอยเสียจนล่มสลาย ทว่าความเหี้ยมโหดของพวกกรีกและเคารพเทพเจ้า ทำให้เทวดากรีกลงโทษเจ้าผู้ครองทั้งหายเสียจนอ่วมอรทัย

หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ Odysseus นี่เอง

เขาถูกลงโทษให้ผจญภัยในท้องทะเลนานหลายปี จนชื่อโอเดสซี่ แปลว่าการผจญภัยอันยาวนาน

Mentor เพื่อนของ Odysseus ก็ฟูมฟัก Telemachus อย่างดี เรียกว่าไม่ทำให้ Odysseus ก็แล้วกัน

ต่อมา Mentor ได้กลายเป็นคำศัพท์ไปในที่สุดเช่นเดียวกับคำอื่นๆที่มาจากตำนานกรีก

American Heritage Dictionary ให้ความหมายว่า A wise and trusted counselor or teacher

ผมคิดว่าเป็นความหมายที่ดี แม้ว่าน่าจะมีคำอธิบายที่ดีกว่านี้ก็ตาม

ก่อนที่จะสรุปว่าเมนเตอร์ตามความหมายของผมคืออะไรนั้น ผมอยากบอกว่าทำไมถึงอยากเขียนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่เคยเขียนไปตั้งนานหลายปีแล้วก็ตาม

สาเหตุก็เพราะสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ถือว่าย่ำแย่มาก

การขัดแย้งกันค่อนข้างรุนแรง ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจกันแน่

รัฐบาลนี้ถือว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราว เข้าบริหารประเทศในยามวิกฤต

ไหนจะต้องจัดการกับคดีต่างๆของอำนาจเก่า

ไหนจะต้องบริหารประเทศท่ามกลางความไม่ยอมรับของตะวันตก

ไหนจะต้องกังวลกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ยอมอยู่เฉยๆเป็นแน่ เพราะถูกรุกอย่างหนัก

คดีกุหลาบแก้ว ทำให้ต้องหาทางสะสางเรื่องโนมินี ซึ่งส่งผลกระทบกับนักลงทุนที่อยู่ในประเทศแล้ว ขณะที่เม็ดเงินใหม่ก็ไม่ไหลเข้าประเทศ

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านต่างแสวงหาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างขมีขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม ซึ่งน่ากลัวมากๆ

การปะทะระหว่างกลุ่มพลังต่างๆจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

ปฏิวัติซ้ำ ปฏิวัติซ้อนจะเกิดขึ้นไหม

ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเรื่อยๆ

ประชาชนเก็บเงินไว้ไม่ใช้จ่าย

เอกชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

ขณะที่ต่างชาติขาดความเชื่อถือประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สถานการณ์เช่นนี้ เราๆท่านๆโดยเฉพาะผู้อยู่ในวงธุรกิจจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

ผมคิดว่าผู้ที่จะประคับประคองตัวให้ผ่านวิกฤตไปได้นั้น ก็ต้องมีเมนเตอร์ที่ดีเท่านั้น

ผมขอเล่าตัวอย่างเมนเตอร์จากภาพยนตร์สามเรื่อง

สองเรื่องเป็นหนังใหญ่ อีกสองเรื่องเป็นละครทีวีของเกาหลี

ใครดูตำนานพระนเรศวรภาค 1 บ้างครับ

ตัวละครที่ผมชอบมากในภาคนี้ก็คือ พระเจ้าบุเรงนอง

ทว่าตัวละครที่ได้ยินชื่อมานาน ทว่าไม่เคยทราบว่ามีบทบาทมากขนาดนี้ คือมหาเถรคันฉ่อง

ปล.พรุ่งนี้จะเข้ามาต่อตอน 2 เด้อ

Published in: on June 13, 2007 at 1:30 am  Comments (14)  

เคล็ดอุทกมังกร เจริญ ตอน 1

กฏข้อ 1 จงอยู่เบื้องหลังและเก็บเนื้อเก็บตัว

มนุษย์ในโลกตะวันตกเชื่อเรื่องการสร้างชื่อ การสร้างแบรนด์ การทำตัวให้โดดเด่น

ส่งผลให้ฝรั่งชอบทำตัวเป็นคนดัง เปิดเผยตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาชีพใดก็ตาม ในระยะหลังซีอีโอและเจ้าของกิจการก็เกือบจะกลายเป็นดาราไปแล้ว เพียงแต่เวทีของพวกเขาก็คือหนังสือพิมพ์ นิตยสารและทีวี ที่นำเสนอเรื่องราวทางธุรกิจ

ขณะที่นักธุรกิจจีนรุ่นลายครามจะมีแนวความคิดตรงกันข้าม นั่นคือจะเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่โชว์ออฟ ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์สื่อทุกชนิดทั้งที่ธุรกิจของพวกเขาต้องเกี่ยวข้องกับมวลชนส่วนใหญ่ของประเทศ

Tycoon ระดับมังกรยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขาทำตัวราวกับมังกรจำศีล น้อยครั้งนักจะให้สัมภาษณ์

ธนินท์ เจียรวนนท์ มังกรในมังกร นานๆครั้งจะให้สัมภาษณ์สักครั้ง หลังวิกฤตพบสื่อถี่หน่อย ทว่าให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการเพียงปีละครั้ง

พวกเขาถือคติตามคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง(บทที่ 56) ว่า

ผู้รู้ ไม่พูด…

ผู้พูด ไม่รู้…

สะกดความรู้สึก…

ปิดใจ…

ซ่อนคม…

งำประกาย…

คลุกดิน…

เจริญ เจริญรอยตามคำภีร์เต๋า เต็ก เก็ง ซึ่งถือเป็นคัมภีร์มังกร ด้วยเช่นกัน

อย่าว่าแต่จะการนัดสัมภาษณ์ กระทั่งการปรากฏตัวต่อสาธารณชนก็นับครั้งได้

เขาบำเพ็ญตนเป็นมังกรซ่อนกาย

ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง

เน้นประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากกว่าอยากดัง

อย่างไรก็ตามระยะหลังเขาปรากฏกายบนเวทีเสวนามากขึ้นพร้อมๆกับธนินท์และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ซึ่งอาจเป็นเพราะได้รับการร้องขอจากผู้ใหญ่

เจริญถึงกับควงลูกและภรรยามางานซีอีโอที่ตลาดหลักทรัพย์จัดขึ้น

เมื่อธุรกิจบริษัทเบียร์ช้างของเขากำลังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เขาต้องโปร่งใสและเปิดกับสาธารณชนมากยิ่งขึ้น

ทว่าเจริญก็ยังเป็นเจริญคนเดิม

มังกร(อุทก)ซ่อนกาย….

Published in: on June 12, 2007 at 12:29 am  Comments (11)  

ไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)

ไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ตอน ปฐมภาค โดยดร. วรัณทัต ดุลยพฤกษ์

ตามสัญญาเลือดที่ตัวผมเองได้ให้ไว้กับคุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย เลยต้องมาเขียนเล่าให้แฟนรายการ Business Connection เข้าใจในเรื่องความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในแบบฉบับคนทำมาหากินเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว

จริงๆแล้วที่มาของเจ้าตัวปัญหาทั้งคู่นี้มีคำอธิบายทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และสถิติรวมทั้งศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจต่างๆ มากมาย หากต้องการจะหาความเข้าใจในระดับที่ลึกซึ้งแบบฟันธงได้คงจะต้องมานั่งศึกษาหลักวิชาการที่แสนยากเย็นอีกหลายปี แค่ฟังท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงจะคิดถอดใจเป็นแน่แท้

เอาอย่างนี้ละกันครับ ผมจะย่อย ย่อ และ คัดนำสิ่งที่ท่านทั้งหลายหวาดกลัว มาหวีผม แต่งตัว ให้ดูน่ารักน่าเอ็นดู เข้าใจง่าย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้หาความสุขกับการทำความรู้จักความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่แสนน่าเกลียดน่ากลัว ตามผมมาสิครับ

เจ้าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจริงๆ แล้วเหมือนพี่น้องคลานตามกันมาครับ จะหาคำจำกัดความแบบเต็มก็มีจากหลายแหล่งความรู้ ทางที่สะดวกที่สุดก็เห็นจะเป็นการอ้างอิงจาก Wikipedia.com ครับ เขาบอกไว้ว่าอย่างนี้ครับ

ความเสี่ยง หรือ เจ้า Risk ผู้เป็นน้อง นี้คือ ตัวดัชนีบ่งชี้ของสิ่งที่คุกคาม (Threat) ซึ่งแน่นอนละครับว่าต้องรวมเจ้า ความไม่แน่นอน หรือ Uncertainty ผู้เป็นพี่เอาไว้ด้วย ถ้าจะให้คำจำกัดของความไม่แน่นอน (Uncertainty) แบบชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย มันคือ ความไม่สามารถจะหยั่งรู้อนาคตของพวกเรานั่นเองครับ

ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ University of Chicago ที่ชื่อ Frank Knight ได้ให้ความหมายของพี่น้องคู่นี้แบบโดนใจว่า ความเสี่ยง (Risk) คือ การวัดค่าในเชิงคุณภาพและปริมาณของความไม่แน่นอน (Uncertainty) นั่นเอง
ภาษาชาวบ้านแบบเข้าใจง่าย ๆ คือ ความเสี่ยงผู้น้องมีกำเนิดมาจากการจับความไม่แน่นอนผู้พี่มาอยู่ให้มาเข้าระบบการชั่งตวงวัดนั่นเอง

คราวนี้ เจ้าความเสี่ยงผู้น้องจะมาจับความไม่แน่นอนผู้พี่มาชั่งตวงวัดอย่างไรล่ะ เขามีแนวอีกอันหนึ่งที่ใช้จับพวกนี้ผ่านทางสถิติ เขาเรียกชื่อมันว่า

ความน่าจะเป็น (Probability) ความน่าจะเป็นที่ว่านี้คืออะไร

ถ้าย้อนอดีตไปตอนเรียนมัธยมคงจะเคยเจอ แต่เนื่องจากความเป็นคนไทย ซึ่งเรามักจะรู้คุณอาจารย์ที่ท่านสั่งสอนมาโดยการถวายคืนความรู้ที่ได้จากอาจารย์กลับไปหมดสิ้นภายหลังจากการสอบ ผมเลยขออนุญาตทวนความรู้แบบง่าย ๆ ให้พวกเราครับ

ความน่าจะเป็นคือการคิดหาสัดส่วนระหว่างโอกาสของสิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นหารด้วยโอกาสทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ เอาตัวอย่างแบบง่าย ๆ และลองคิดตามผมดูครับ

สมมติว่าท่านหยิบเหรียญบาทขึ้นมา 1 เหรียญ เอามาโยนปั่นแปะกัน โดยปกติแล้ว เหรียญบาทธรรมดา มีโอกาสที่จะออกหน้าได้ทั้งหมดสองหน้าครับ คือ ไม่หัว ก็ ก้อย

บางท่านอาจจะเถียงผมว่าน่าจะมีโอกาสที่เหรียญจะออกกลางคือ แบบว่าโยนไปแล้วเหรียญหล่นลงมาตั้งฉากกับพื้นโดยไม่โชว์หน้าใดหน้าหนึ่งออกมา ถ้าคิดแบบนี้เหนื่อยครับ แบบนี้เห็นแต่ในหนังจีนประเภทเซียนโค่นเซียนเท่านั้น ในชีวิตจริงยากครับ ไม่ต้องเอามาคิดเลยจะดีกว่า

จากที่ผมบอกไปแสดงว่า โอกาสทั้งของเหรียญที่จะออกมีอยู่แค่ 2 แบบเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามความน่าจะเป็นของการที่เหรียญจะออกหัวก็คือ โอกาสของจะออกหัวคือ 1 หารด้วยโอกาสทั้งหมดคือ 2 จะเท่ากับ 0.5 นั่นเองครับ ในทางการคิดคำนวณของโอกาสที่เหรียญจะออกก้อยก็ทำเหมือนกันครับ และเนื่องจากสูตรที่ให้ดังกล่าว ผลรวมของความน่าจะเป็นทั้งหมดจะต้องเท่ากับ 1 แน่นอนครับ (0.5 ออกหัว และ 0.5 ออกก้อยไงครับ)

ความน่าจะเป็นเหล่านี้บอกอะไรกับท่านล่ะครับ ง่าย ๆ ครับ อันไหนมีค่าความน่าจะเป็นจากการคำนวณสูงก็หมายถึงโอกาสที่จะเกิดก็จะสูงตามไปด้วย แต่อย่าลืมครับ โอกาสสูงสุดของความน่าจะเป็นคือ 1 หรือ พูดง่าย ๆ ว่า โอกาสจะเกิดขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ครับ

จะความน่าจะเป็นไปทำอะไรต่อดีล่ะ

ผมแนะนำแนวความคิดอีกอันแบบต่อเนื่องให้ลองคิดดูครับ

นักเศรษฐศาสตร์เขาจับเอาความน่าจะเป็นเหล่านี้ไปคูณกับผลที่ได้รับแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า มูลค่าความคาดหวัง หรือ Expected Value มูลค่าตัวนี้เอาไปทำอะไร หลายคนคงใจร้อนอยากทราบ

บอกให้แบบง่าย ๆ ครับคือ มูลค่าโดยรวมที่คาดว่าจะได้รับเมื่อประเมินร่วมกับความน่าจะเป็นทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง และเพื่อเป็นการยกตัวอย่างแบบถึงใจพระเดชพระคุณ ผมขออนุญาตใช้ตัวอย่างแบบชาวบ้านละกัน

สมมติว่า ท่านมีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมการพนัน โดยเจ้ามือเขาเสนอท่านมาว่ามาเล่นปั่นแปะกินเงินดีกว่า เพราะได้เงินทันใจไม่ต้องลุ้นนาน

เขาเสนอมาอย่างนี้ครับ ถ้าแทงถูก กล่าวคือ แทงหัวออกหัว แทงก้อยออกก้อย เขาจะจ่ายให้เท่ากับจำนวนเงินที่ท่านแทงเป็นผลตอบแทน แต่ถ้าออกหน้าเหรียญไม่ตรงละก็เจ้ามือกินเงินท่านทันที ลองมาคำนวณมูลค่าความคาดหวังจากกิจกรรมการพนันดูครับว่ามันจะเป็นอย่างไร

เริ่มต้นให้มองแบบนี้ครับ โอกาสทั้งหมดที่ท่านในฐานะผู้ลุ้นโชคมีอยู่คือ แทงถูกรับทรัพย์ แทงผิดเสียทรัพย์ ถ้าสมมติว่าท่านแทง 100 บาท ถ้าถูก เจ้ามือก็จะจ่ายทันที 100 บาท รวมเงินที่ท่านจะมีเงินสุทธิก็จะเท่ากับ 200 บาท (100 บาทเดิมของเรา กับ 100 บาทเจ้ามือจ่าย) แต่ถ้าท่านทายผิด ท่านจะต้องจ่ายเงิน 100 บาทของท่านแก่เจ้ามือโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าท่านจะกลายเป็นติดลบ 100 บาททันที

ผนวกรวมกับการคำนวณความน่าจะเป็นที่บอกไปแล้วครับ ถ้ามองดี ๆ โอกาสที่เหรียญจะออกหน้าใดหน้าหนึ่งมีความหน้าจะเป็นเท่ากับ 0.5 อยู่แล้ว คือ มีโอกาสออกแต่ละหน้าแบบ ”ห้าสิบห้าสิบ” เชื่อมโยงกับโอกาสถูกรางวัลของท่านแบบง่ายๆ ก็จะเป็น ถ้าเราแทงหัวหรือก้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก็หมายถึงเรามีโอกาสถูก “ห้าสิบห้าสิบ” เช่นกัน เราลองมาคำนวณมูลค่าความคาดหวังกันดีกว่าครับ

ส่วนแรก ลองเอาความน่าจะเป็นที่จะแทงหัวออกหัวหรือแทงก้อยออกก้อย หรือพูดง่าย ๆ ว่าแทงถูก ซึ่งเท่ากับ0.5 คูณกับเงินสุทธิที่จะได้เมื่อแทงถูก 200 บาท ก็จะได้เท่ากับ 100 บาท

ส่วนที่สอง เอาความน่าจะเป็นที่เหลือ หรือ เมื่อท่านแทงไม่ถูก คือ แทงหัวดันออกก้อย หรือ แทงก้อยดันออกหัว ซึ่งท่ากับ 0.5 นั่นเอง คูณกับเงินสุทธิที่ท่านแทงผิดคือ ติดลบ 100 บาท เท่าก็จะได้ ลบ 50 บาทนั่นเอง ก็คือติดลบไป 50 บาทว่างั้นเถอะ

คราวนี้นำส่วนแรกกับส่วนที่สองมารวมกันเพื่อคำนวณมูลค่าความคาดหวังก็จะได้เท่ากับ 50 บาท (นำ 100 บาทที่ได้จากการคำนวณในส่วนที่ท่านแทงถูก รวมกับ -50 บาทในส่วนสองหากท่านแทงผิด) แปรผลอย่างนี้ครับ เดิมแรก ท่านมีเงินอยู่ในกระเป๋าดี ๆ 100 บาทแบบเต็มมูลค่าและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่หากท่านจะนำเงินไปเสี่ยง (บางคนชอบบอกว่าเอาไปลงทุน) เงินของท่านมีมูลค่าความคาดหวังเหลือเพียง 50 บาทเอง มาถึงตรงนี้แล้ว ยังอยากเสี่ยงเล่นปั่นแปะกับเจ้ามือหรือเปล่าครับ จะเห็นได้ว่า แค่คิดจะเล่นเหมือนให้เจ้ามือเขาไปฟรี ๆ 50 บาทไปแล้ว

พอเล่ามาถึงตอนนี้แล้ว หลายท่านคงไม่อยากจะคิดเล่นการพนันอีก ผมเคยลองคำนวณพวกมูลค่าความคาดหวังเหล่านี้จากพวกหวยรัฐบาล ขอสงวนไม่บอกตัวเลขละกันครับ แต่บอกพวกเราได้ว่า เก็บเงินไว้ซื้อขนมให้ลูก หรือ เช่าพระดีกว่าครับ

บางคนอาจคิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก ขอเป็นเจ้ามือเองเพราะอยากได้เงินที่บอก ก่อนอื่นผมและทางผู้จัด Business Connection ขอยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมการพนันทุกรูปแบบนะครับ ผมให้ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับ เมืองใหญ่ที่เน้นเรื่องการพนันเช่น เมือง Las Vegas ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้ามือรายใหญ่ เคยเห็นเขาเจ๊งไหมครับ เห็นแต่รวยเอา ๆ ขยายโรงแรมและธุรกิจกันทุกปี ภาษีซื้อขายในรัฐเขาไม่ต้องเสีย

รัฐNevada ที่เป็นที่ตั้งของเมืองLas Vegas แถบจะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันยกเว้นเจ้ากิจการการพนันนี่แหละ เมืองเดียวเลี้ยงทั้งรัฐ การพนันไม่จำเป็นต้องโกง อาศัยความน่าจะเป็นเจ้ามือก็รับทรัพย์ไปแล้วครับ อันนี้ถ้าท่านจะคิดถึงการตั้งบ่อนของท่านเอง ค่าใช้จ่ายนอกระบบอีกบานตะไทครับ อย่าไปทำเลยครับ ผมว่ามันบาปเปล่า ๆ

ในตอนนี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะเริ่มทำความรู้จักและสนุกกับพี่ความไม่แน่นอนกับน้องความเสี่ยงแล้วนะครับ ในตอนหน้าจะเล่าให้ฟังถึงคน 3 กลุ่มครับ เขามีพวกชอบความเสี่ยง (Risk loving) พวกเฉย ๆ กับความเสี่ยง (Risk Neutral) และ พวกกลัวความเสี่ยง (Risk Averse)

อยากทราบไหมละครับว่าท่านหรือลูกค้าท่านจัดอยู่ในกลุ่มใด

ตอนหน้าติดตามได้ครับ

Published in: on June 11, 2007 at 12:08 am  Comments (18)