Customer Experience Management-สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล

CRM นั้นคือ Customer Relationship Management

ส่วน CEM คือ Customer Experience Management เป็นการจัดการเกี่ยวกับเรื่อง Touch point ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการได้รับการบริการนั้นแล้วรู้สึกประทับใจ อยากจะมาใช้บริการอีก

ผลจากการวิจัยเรื่อง CEM เป็นดังนี้

1 คนเราเวลามีอะไรที่ผิดพลาดเกิดขึ้น เขาจะไม่มองว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากระบบ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการก็คือ ต้องมีคนให้ด่า

2 อะไรก็ตามที่มันผิดปรกติจากที่เคยเป็น แล้วมีความผิดพลาดเกิดขึ้น คนจะบอกทันทีเลยว่าที่มันเป็นอย่างนี้เพราะว่ามีอะไรที่ผิดพลาดไปจากที่เขาเคยเจอ

3 คนเราจะต้องการทุกอย่างที่มีการปรับปรุงดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราขึ้นเครื่องบิน ทุกอย่างนั้นดีไปหมด แต่สุดท้ายพอลงเครื่องบินแล้วกระเป๋าเดินทางหาย ทุกอย่างที่ทำมาดีตั้งแต่ต้นนั้นคือเลวทั้งหมดเลย ซึ่งเป็นการตายตอนจบ

Customer Experience Management ก็มีหลักอยู่ 3 ข้อ
ข้อ 1 ให้เริ่มต้นโดยการทำสิ่งที่ไม่ได้ดีที่สุด แต่ตอนจบต้องดีที่สุด

ข้อ 2 คนเราจะรู้สึกสบายมากขึ้น พอใจมากขึ้นถ้าหากสามารถที่จะควบคุมอะไรบางอย่างได้ ยกตัวอย่างเช่น ทำไมอาหารบนเครื่องบินถึงมี 2 อย่างให้เลือก ก็เพราะว่าเมื่อมีทางเลือกให้เขาต้องการไม่ว่ามันจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็จะไม่ค่อยด่าเท่าไร เพราะว่าเขาเป็นคนเลือกเอง แต่ถ้ามีอย่างเดียวให้เลือกแล้วก็ไม่อร่อยเขาก็จะด่าเลย

อีกตัวอย่างก็คือเวลาเราไปเจาะเลือด หมอก็จะถามเลยว่าจะให้เจาะข้างไหน ซ้ายหรือขวา แต่ถ้าหากหมอไม่ถาม มาถึงแล้วก็เจาะเลย ถ้าเกิดคนไข้เจ็บก็จะด่าแหลก

แต่ถ้าให้เลือกก็เป็นสิ่งที่คนไข้ตัดสินใจได้เลือกแล้ว ก็ต้องโทษคนไข้เองส่วนหนึ่ง

นั่นก็คือจะต้องให้โอกาสลูกค้ามีทางเลือก เพราะสิ่งที่ควบคุมเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่มีความต้องการ

ข้อ 3 ให้ split ความเจ็บปวดแล้วก็ให้รวมความสนุกสนานหรือความสุขเข้าหากัน ยกตัวอย่างเช่นเราไปหาหมอ เราไปนั่งรอ ประเดี๋ยวนึงก็ครึ่งชั่วโมงแล้ว หมอเรียก พอเข้าไปแล้วก็ยังต้องนั่งรออีก 15 นาที เมื่อพบหมอเสร็จก็ต้องไปนั่งรอหน้าห้องเอ็กซเรย์อีก 20 นาที

เราก็จะรู้สึกว่ามันนานมาก เขาบอกว่าการทำ CEM ที่ดีนั้นจับลูกค้ามารอทีเดียวเลยนานๆ แต่ว่าเมื่อเข้าระบบแล้วให้มันไหล…ถ้าจัดระบบแบบนี้แล้วเขาจะมีความสุขมากกว่า

การที่ไปนั่งรอนั้นคือความเจ็บปวด แต่ว่าการได้เริ่มทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการตรงนั้นคือความสุขที่เขาต้องการแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เวลาเราไปสวนสนุก แล้วเราต้องรอคิว รออยู่ครึ่งชั่วโมง เกือบถึงแล้ว แต่ปรากฏว่าข้างหน้าเรามีคนอีกประมาณ 500 คนแต่ระหว่างที่รอเขาก็หลอกเราด้วยการที่ไม่ให้เรายืนอย่างทรมานมากเกินไป เช่นมีสิ่งแวดล้อมที่ดี
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ขึ้นไป สังเกตได้ว่าเราจะเล่นเครื่องเล่นต่อรอบไม่เกิน 2 นาที คำถามก็คือทำไมเราได้เล่นแค่ 2 นาที เขาบอกว่า เวลาในการเล่นที่ลดจาก 3 ลงมาเป็น 2 นาทีนั้นคนไม่รู้สึกหรอก แต่ที่แน่ๆ ก็คือเขามีความสามารถในการบริการให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 50% เก็บเงินได้มากขึ้น

อันนี้ก็เป็นหลักการของ Customer Experience Management

ถามว่ามีใครเอามาใช้แล้วประสบความสำเร็จบ้างไหมในเมืองไทย

ผมว่าเรื่องนี้ยังใหม่สำหรับในบ้านเรา เพราะว่าอุตสาหกรรมที่จะนำเรื่องนี้ไปใช้แล้วได้ประโยชน์มากๆ เลยก็คือ อุตสาหกรรมบริการ เพราะผู้ซื้อกับผู้ผลิตจะมีโอกาสได้เจอกันอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการทำการตลาดของธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับเรื่อง CEM และ CEM จะต้องเป็นธุรกิจที่ หนึ่งต้องเป็นธุรกิจบริการ

สอง คนที่เข้ามาดำเนินการจะต้องไม่ใช่แค่ฝ่ายการตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะว่าในธุรกิจบริการ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการบริหารงานบุคคล กับระบบต่างๆ จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกันหมด จะต้องเป็นองค์รวม เพราะฉะนั้นการบริหารธุรกิจบริการจึงยาก
สาม Empowerment การที่เราจะจัดการเรื่อง CEM ผู้ให้บริการจะต้องมีความสามารถในการบริการกับมีอำนาจในการตัดสินใจได้ ณ ตรงนั้นเลย ต้องบริหารตรง Touch Point เลย

เรื่อง Touch Point ส่วนใหญ่ Call Center จะเป็นตัวจัดการ แต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่เราจะ outsource?
ตรงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้ว่าเมื่อไรเราถึงควรจะเริ่มธุรกิจใหม่ เมื่อไรจะต้องทำให้ธุรกิจมีความเป็นระบบมากขึ้น ต้องรู้ว่าเมื่อไรเราต้องเลิกทำกิจกรรมบางอย่าง

เพราะฉะนั้นเรื่องของการ Outsource เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกวันนี้ระบบ Call Center ดีมาก ระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกันระหว่างคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ทุกวันนี้ดีมาก เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ขึ้นบนหน้าจอนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนของเราเป็นคนจัดการ เราสามารถที่จะ Outsource ออกไปได้และถ้าทำเอง Cost ก็สูงมาก

แต่ถ้าถามว่าการ Outsource ออกไปนั้นมีการผิดพลาดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี แต่ถ้าถามว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิด เป็นสิ่งที่ต้องทำ…

Published in: on October 31, 2007 at 2:55 am  Comments (9)  

Building Brand for SMEs

บ่ายวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่าน มีการจัดงานสัมมนาเรื่อง “สร้างแบรนด์เพื่อ SMEs” โดยอ.สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล

ผู้คนมากันล้นหลาม กว่า 600 คนทีเดียว

ในจำนวนนี้เกิน 70% ที่เป็น SMEs

เดินทางมาจากต่างจังหวัดก็หลายคน

บางคนเพิ่งกลับจากต่างประเทศก็มี

ผมพูดเกริ่นในช่วงแรกครึ่งชั่วโมงเศษๆ ก่อนที่จะพักเบรกสักครู่ ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายที่เข้มข้น

เนื้อหาการบรรยายเป็นอย่างไร ผมจะไม่เขียนตอนนี้ อยากขอพูดเบื้องหลังมากกว่า

สาเหตุที่ผมเชิญ อ.สรรค์ชัย มาบรรยายนั้นก็เพราะอาจารย์สรรค์ชัยไม่ใช่นักการตลาดธรรมดา ทว่าเป็นนักกลยุทธ์การตลาด

ผมรู้จักอ.สรรค์ชัยมานาน 20 ปี จึงรู้ระดับฝีมือ อีกทั้งอ.ยังเป็น Commentator ประจำรายการของผมอยู่ช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ตามการที่อ.มีภารกิจมากเหลือเกิน ทำให้ผมกังวลว่าเมื่อถึงวันสัมมนาจริงๆ อ.จะไม่ว่าง ต้องมีประชุมด่วนหรือเดินทางไปต่างประเทศ

ซึ่งถ้าฉุกเฉินแล้ว ผมก็ต้องเป็นผู้บรรยายแทน

ซึ่งผมไม่อยากทำ

ผมต้องการให้วิทยากรที่เชิญมาโซโร่มากกว่า

ทว่างานก็ผ่านไปด้วยดี
ในงานมี Power Point ที่เราไม่ได้แจก เพราะอ.เพิ่งทำเสร็จ

ผมได้ Upload เรียบร้อยแล้ว

ใครต้องการก็ Download ไปใช้ได้

ก่อน Download ผมอยากให้ท่านที่ไปงานสัมมนา Comment งานสักหน่อย

ครั้งหน้าจะได้ปรับปรุงครับ

branding-for-small-business.ppt

Published in: on October 21, 2007 at 2:25 am  Comments (27)  

อาลัยเจ้าแม่บอดี้ช็อป

anita_photo.jpg

เช้าวันที่ 12 ก.ย. พี่ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัยของกระผม โทรมาแจ้งข่าวว่าสตรีผู้สร้างแบรนด์เครื่องสำอางบันลือโลกอย่าง “The Body Shop” (บอดี้ช็อป) ได้เสียชีวิตแล้ว

ได้ฟังดั่งนั้นก็ตกใจ เพราะจำได้ว่าเธอยังอายุไม่มาก และไม่มีวี่แววมาก่อน

แอนิต้า รอดดิค (ชื่อพร้อมตำแหน่งจริง ๆ ของเธอคือ Dame Anita Roddick ตำแหน่งที่เทียบเท่ากับอัศวิน หรือ Knight ของผู้ชาย) นั้น เสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก

เธอน่าจะเป็นนักธุรกิจหญิงที่ดังที่สุดของอังกฤษ

และถ้าวัดกันทั้งโลก เธอก็น่าจะติดอันดับต้นด้วย

เธอสร้างชื่อเสียง (และอาณาจักรบอดี้ช็อป) ของเธอ บนรูปธรรมความสำเร็จของการผสมผสาน “อุดมคติอันสูงส่ง” เข้ากับ “ความเป็นผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ”

บอดี้ช็อปแสดงให้โลกประจักษ์ ผ่านตัวเลขผลประกอบการที่ดี (แม้จะไม่ดีในทุกไตรมาส ทุกปีก็ตาม) ควบคู่กับการทำให้สิ่งดีมีศีลธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดต่อต้านการทดลองในสัตว์ สนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์โดยให้ลูกค้านำกลับมาเติม (Refill) สินค้าใหม่ในร้านได้ ต่อต้านความเชื่อผิด ๆ ความฝันลม ๆ แล้ง ที่ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจความงามของโลกส่วนใหญ่ชอบนำมา “ขายฝัน”

เธอพิสูจน์ให้โลกเห็นได้ว่า ธุรกิจก็ประสบความสำเร็จได้ หากตั้งต้นด้วยการ “ทำดี” และ “การรับผิดชอบต่อสังคม” ในทุกรายละเอียด ทุกกิจกรรมที่ธุรกิจนั้น ๆ กระทำไป

อะไรหล่อหลอมให้เธอเป็นแอนิต้าที่โลกรู้จัก?

แอนิต้าเติบโตมาในครอบครัวชาวอิตาลีเชื้อสายยิว ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศอังกฤษ เธอเรียนหลายด้าน แต่ลงเอยที่ครุศาสตร์

เธอเคยทำงานที่ “องค์การสหประชาชาติ” (United Nation) ซึ่งต้องเดินทางมากมาย และพบปะผู้คนหลายเชื้อชาติหลากวัฒนธรรม

ก่อนเปิดร้านบอดี้ช็อป เธอและสามีได้ทำร้านอาหาร รวมทั้งทำโรงแรมด้วย

แล้วร้านบอดี้ช็อปกำเนิดขึ้นมาอย่างไร?

ตอนที่แอนิต้าสร้างร้านขายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณของร่างกายขึ้น ที่เมือง Brighton ในปี 1976 นั้น เธอไม่ได้ต้องการเปลี่ยนโลก หากแต่ทำเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะการเลี้ยงดูลูกสาว 2 คน และปากท้องของตัวเธอเอง

“เขาเป็นนักสร้าง (do-er) ส่วนฉันเป็นนักฝัน (dreamer)” แอนิต้าเคยให้สัมภาษณ์กล่าวถึงสามีของเธอ Gordon ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการบริหารจัดการด้านธุรกิจและการเงิน ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญให้กับความคิดและสินค้าของบอดี้ช็อป ทะยานและขยายตัวไปทั่วโลกได้

ประสบการณ์ที่แอนิต้าได้จากการเดินทาง และพบปะผู้คนที่หลากหลาย ได้กลายเป็น “หน่ออ่อน” ของวิถีที่บอดี้ช็อปทำธุรกิจในกาลต่อมา

เธอมอง คิด และทำธุรกิจ ไม่เหมือนกับผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ทั่วไป

เธอยอมรับว่ากว่าจะมาเป็นบอดี้ช็อปได้นั้น เธอได้ผ่าน “ลำดับของอุบัติเหตุ” ที่สำคัญยิ่งหลายประการ และหลาย ๆ สิ่งที่บอดี้ช็อปได้ทำและดูดีนั้น กำเนิดมาเพราะ “ความจำเป็น”

“แรกเริ่มที่เราต้องรีไซเคิ้ลทุกอย่างนั้น ไม่ได้เป็นเพราะเราห่วงใยธรรมชาติหรอก แต่เป็นเพราะเรามีขวดไม่พอ” เธอยอมรับตรง ๆ

บอดี้ช็อปนั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายที่จะสร้างตัวเองให้เป็นแบรนด์ความงามที่แตกต่าง ด้วยจิตวิญญาณนักปฏิวัติ

“ฉันทำลายกฎสำคัญของหนึ่งในธุรกิจค้าปลีก เมื่อฉันได้ใช้หน้าร้านบอดี้ช็อปเป็นที่รณรงค์ในประเด็นสำคัญ และทำแคมเปญในเรื่องต่าง ๆ ที่เราเห็นพ้อง ตั้งแต่การสนับสนุนการนิรโทษกรรมสากล การต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว และการสนับสนุนให้คนภาคภูมิใจในตัวของตัวเอง” เธอกล่าวอย่างเด็ดเดี่ยว

“ในการสร้างให้ธุรกิจเติบโต เราพึ่งพาชื่อเสียง และการพูดปากต่อปาก ไม่ใช่การโฆษณาขนาดใหญ่อย่างที่ใคร ๆ ทำกัน”

บอดี้ช็อปเติบโตจนเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1985 และได้เงินทุนเพื่อขยายกิจการออกไป อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเธอจะทำอะไรก็ดีไปหมด

การขยายเข้าไปในอเมริกาในทศวรรษ 1990 นั้นล้มเหลว เพราะขาดการวิจัยตลาดที่เพียงพอ และละเลยการตอบโต้ของแบรนด์ Bath & Body Works ที่ปักหลักอยู่แล้ว

ส่วนตลาดในบ้านอย่างอังกฤษเองก็เผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น จากการที่ผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ กระโจนเข้าร่วมกระแสที่บอดี้ช็อปสร้าง อย่างเช่น Boots นั้นได้ออกไลน์ Botanics และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำการธรรมชาติ เพื่อประกบตัวต่อตัวกับสินค้าบอดี้ช็อปทีเดียว

แรงกดดันที่มีต่อแอนิต้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ

เมื่อธุรกิจกำไร เมื่อบริษัทเป็นของมหาชน ผู้ถือหุ้นซึ่งต้องการผลตอบแทนในเชิงธุรกิจมากกว่านี้ ต่างพยายามกดดันเธอให้ถอยห่างจากธุรกิจมากที่สุด

จะได้โกยกำไรจากฐานชื่อเสียงของบอดี้ช็อป โดยไม่ต้องติดขัดศีลธรรมจรรยาในตัวเธอมากนัก

เธอตัดสินใจวางมือจากตำแหน่งบริหาร ไปนั่งอยู่บนบอร์ดในปี 2002

ในระยะหลังนั้นมีข่าวว่าหลายบริษัทสนใจซื้อกิจการบอดี้ช็อป แต่ก็ติดนู่นติดนี่สารพัด โดยเฉพาะความเข้มงวดในการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามาซื้อของแอนิต้า เพราะเธอไม่ต้องการให้อุดมการณ์ของแบรนด์ที่เธอสร้างต้องจืดจางไป

ในที่สุดดีลก็จบลงกับบริษัทที่แฟนบอดี้ช็อปไม่คิดว่าจะเป็นไปได้

นั่นคือ “ลอรีอัล” ธุรกิจความงามอันดับหนึ่งของโลกสัญชาติฝรั่งเศส

“สำหรับกอร์ดอนและฉัน นี่เสมือนเป็นของขวัญครบรอบ 30 ปีที่ดีสุดที่จะเกิดขึ้นกับบอดี้ช็อปได้” เธอกล่าว

การขายธุรกิจครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

เสมือนหนึ่งขายวิญญาณ สังเวยนายทุนผู้ไร้ศีลธรรม

จะอย่างไรก็ตามแต่ สิ่งที่แอนิต้าได้เพียรสร้างตลอดชีวิตไว้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้ประกอบการจำนวนมากบนโลกไปนี้

ในเวปบล็อกส่วนตัวของเธอ (www.anitaroddick.com) นั้น เธอได้แบ่งหัวข้อต่าง ๆ ออกเป็นดังนี้ …

About Anita – Activism – Aging – Allies – Brilliant – Children – Communities – Corporate Greed – Frigging Daft – Education – Entrepreneurship – Environment – Self Esteem – Friend & Family – Funny – Globalization – Global Warming – Human Rights – Language – The Media – Politics – Sex – Social Inventions – Sweat Shops – Team – Trade Justice – Visionaries – War and Peace – Water – Women

ทั้งหมดสะท้อนตัวตนและความสนใจของแอนิต้าได้ชัดเจน

เธอเชื่อว่า “ธุรกิจ” นั้น เป็นสถาบันทางสังคมที่ทรงพลังที่สุด (there is no more powerful institution in society than business)

“ผู้ประกอบการนั้น จะต้องเป็น คนมองโลกในเชิงบวกแบบเข้าใจความเป็นไปในโลกแห่งความจริง (Pathological Opitimists) และจะมองเห็นทางออกที่เชื่อมโยงเป็นระบบ ต่อปัญหาต่าง ๆ เสมอ”

เธอพยายามใช้ชีวิตอย่างสง่างามเช่นนั้น ตราบจนวันสุดท้าย

Published in: on October 3, 2007 at 12:33 am  Comments (9)