ไตรภาคความเสี่ยง ตอน 2 มาแล้วจ้า

ไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ตอน ภาค 2 ท่านจัดอยู่ในประเภทกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
ดร. วรัณทัต ดุลยพฤกษ์

ความเดิมจากตอนที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักเบื้องต้นกับเจ้าพี่น้องความเสี่ยง (Risk) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) มาแล้ว ผมได้ทิ้งท้ายคราวที่แล้วถึงประเภทของคน 3 กลุ่มที่มองความเสี่ยงต่างกันครับ ก่อนที่จะให้ท่านทั้งหลายเลือกจัดกลุ่มที่เหมาะสม ผมขอแนะนำตัวแปรอีกหนึ่งตัวเพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ

ตัวแปรที่ว่านี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Certainty Equivalent ครับ ขอตั้งชื่อไทยแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า
‘ มูลค่าของตาย ‘ โดยเจ้ามูลค่าของตายที่ว่านี้เป็นมูลค่าที่ปราศจากความเสี่ยง พูดง่าย ๆ ว่า ได้แน่นอนแบบสิ่งที่เรามักเรียกติดปากว่า ‘ ของตาย ‘

เอาเป็นว่า ถ้าท่านมีโอกาสเล่นเกมโชว์ในโทรทัศน์ ถึงรอบสุดท้ายพิธีกรประจำรายการให้ท่านเลือกเปิดประตูดวงสองประตู

โดยประตูใดหนึ่งในนั้นจะเป็นรางวัลเงินสดมูลค่า 10,000 บาท ส่วนประตูที่เหลือท่านจะได้เพียงแค่เสียงปรบมือโห่ร้องจากกองเชียร์

ท้ายที่สุด พิธีกรก็จะเสนอทางเลือก(ที่จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของรายการ) โดยให้ท่านตัดสินใจรับเงินสดทันที 3,000 บาทโดยไม่ต้องเปิดประตูดวงดังกล่าวเลย

จากการคำนวณมูลค่าความคาดหวัง(Expected Value) จากคราวที่แล้วจะบอกท่านว่า

ถ้าท่านเลือกเปิดประตูดวง มูลค่าความคาดหวังจะเท่ากับ 5,000 บาทนั่นเอง (มาจาก 10,000 บาทคูณความน่าจะเป็น 0.5 ถ้าท่านเปิดถูกประตู แล้วนำมารวมกับ 0 บาท คูณกับความน่าจะเป็น 0.5 ถ้าท่านเปิดผิดประตู)

ลองคิดดูครับ ว่าท่านจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงดีเมื่อเทียบกับเงินสด 3,000 บาทที่พิธีกรเสนอให้ซึ่งในที่นี้คือ มูลค่าของตาย นั่นเองครับ

ถ้าท่านเลือกที่จะเสี่ยง เพราะเนื่องจากว่า ท่านคิดว่าท่านเป็นคนเหนือดวง หรือทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า ท่านมีความรู้สึกว่าเงินสด 3,000 บาทดังกล่าวยังไม่สามารถทำให้ท่านพึงพอใจที่จะหยุดการเสี่ยงดวงครั้งนี้

หากจะให้เขาหยุดเสี่ยงดวงพิธีกรจะต้องเสนอเงินที่มากกว่ามูลค่าความคาดหวัง ทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าท่านเป็นคนที่ชอบความเสี่ยง หรือ Risk Loving นั่นเองครับ

ถ้าท่านเลือกที่จะไม่เสี่ยงและรับเงินสด 3,000 บาทกลับบ้านเพราะรู้สึกได้ถึงความพอเพียงที่จะได้รับโดยไม่ต้องเสี่ยง ท่านจัดอยู่ในกลุ่ม พวกที่ไม่ชอบความเสี่ยง หรือ Risk Averse ครับ เพราะกลุ่มนี้ชอบของตายที่ได้แน่นอนมากกว่าของที่ต้องเสี่ยงครับ

กลุ่มสุดท้าย หรือกลุ่มพวกที่เฉย ๆ หรือ ไม่รู้สึกแตกต่างกับการเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง (Risk Neutral)

กลุ่มนี้จะใช้การเปรียบเทียบกันระหว่างมูลค่าของตายกับมูลค่าความคาดหวัง

ทางกลุ่มนี้จะไม่มีความรู้สึกแตกต่างกันระหว่างการเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงหากมูลค่าทั้งสองอย่างเท่ากันครับ

คือพูดง่าย ๆ ว่า พิธีกรต้องเสนอเงินมากกว่ามูลค่าความคาดหวัง เขาถึงจะไม่เสี่ยงแน่นอนครับ ในการนี้

โดยเนื่องจากเงิน 3,000 บาทมันยังน้อยกว่ามูลค่าความคาดหวังดังกล่าว ผมฟันธงว่า กลุ่มนี้จะเสี่ยงเปิดประตูดวงในรอบนี้ครับ

สรุปแล้วว่า ถ้าพิธีกรเสนอเงินสดเท่ากับมูลค่าความคาดหวังในครั้งนี้นั่นคือ 5,000 บาท ทางรายการเกมโชว์ก็มีโอกาสสูงที่จะลดต้นทุนเงินรางวัลได้ (แทนที่จะจ่ายสูงสุด 10,000 กลับจ่ายแค่ 5,000 บาท)

เพราะคนในกลุ่ม Risk Neutral และ Risk Averse มีโอกาสสูงที่เขาจะมาเลือกที่จะไม่เสี่ยงและรับเงินสดแทนครับ

ต้องหมายเหตุไว้สักนิดหนึ่งครับว่า มันอาจจะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมการเสี่ยงได้

ถ้าอิงจากตัวอย่างดังกล่าว เสียงเชียร์จากห้องส่งผนวกกับความกดดันจากการพยายามรักษาภาพลักษณ์ว่าเป็นคนที่กล้าเสี่ยง อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจชั่ววูปไปในทิศทางที่ทฤษฎีไม่ได้กำหนดไว้ครับ

และผมก็เชื่อว่า คน ๆ เดียวกันอาจอยู่ได้ทั้ง 3 กลุ่ม โดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ความรู้ ประสบการณ์ และ ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสำคัญของเรื่องที่จะต้องเสี่ยงครับ

ประเด็นเรื่องเพศ เพศชายโดยส่วนใหญ่จะชอบการเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงครับ

อันนี้สังเกตได้จากการใช้ชีวิตของผู้ชายครับ ตั้งแต่เด็กจนโตมา ธรรมชาติสร้างมาให้สมบุกสมบันได้มากกว่าเพศหญิง พูดง่าย ๆ ว่ากล้าได้กล้าเสียครับ ยกตัวอย่างพวกกีฬาต่าง ๆ ผู้ชายจะชอบดูมากกว่าผู้หญิงเพราะติดนิสัยชอบลุ้นครับ

อายุ ประเด็นนี้จะสามารถเชื่อมโยงกับความรู้ ประสบการณ์ และ ฐานะทางเศรษฐกิจด้วยครับ แต่มองในส่วนของอายุก่อน

คนที่อายุน้อยกว่าอาจมีความรู้สึกที่อยากจะท้าท้ายอยากลองสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าคนที่อายุมากขึ้นครับ อาจจะด้วยความคะนองของวัยที่กำลังเติบโต หรือ การถูกชักจูงง่ายโดยไม่ต้องมากเหตุผลครับ

ทางด้านความรู้ มาคู่กับประสบการณ์ ยิ่งข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ที่มีมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีวิจารณญาณในการคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล (Rational Thinking and Decision Making) เมื่อมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น

ฐานะทางเศรษฐกิจก็มีส่วนครับ โดยส่วนใหญ่แล้วพวกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมักจะไม่ค่อยอยากเสี่ยงครับ อาจเป็นเพราะมีเงินในกระเป๋ามาก จึงทำให้มีโอกาสเลือกมากกว่าและอาจจะไม่อยากเสียเวลามาเสี่ยง

แต่กลุ่มนี้ต้องวิเคราะห์ให้ลึกหน่อยครับ ว่าพื้นฐานการมั่งคั่งทางเศรษฐกิจดังกล่าวมีที่มาอย่างไร

ถ้าโตมาแบบเสี่ยงตลอดตั้งแต่การปฏิสนธิ แล้วใช้ชีวิตมาด้วยความเสี่ยงตลอดพวกนี้อาจจะมีมุมมองต่างกันกับส่วนใหญ่ที่ผมว่าไว้ครับ

หรือไม่ก็มีเงินมากจนไม่รู้จะทำอะไร โดยเฉพาะเงินหาง่ายจนแทบไม่รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของเงิน แถมเสียเท่าไรก็ยังมีจ่ายแบบเหลือเฟือ ก็อาจจะชอบเสี่ยงครับ

ประเด็นที่จะมองรวมของอายุ ความรู้ ประสบการณ์ และ ฐานะทางเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ ตอนที่เราเป็นเด็กนั้น โดยพลังชีวิตที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ ความรู้ยังอยู่ในระหว่างการอัดเข้าไปในสมอง ประสบการณ์อาจมีแต่ยังไม่มากพอ และ ยิ่งมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่าย (พูดง่าย ๆ ว่าทำได้หนูรับ แต่ถ้าเสียพ่อแม่จ่าย)

คงเดากันได้นะครับว่า น่าจะชอบเสี่ยงมากกว่าไม่เสี่ยงครับ

ความสำคัญของเรื่องที่จะต้องเสี่ยง อธิบายง่าย ๆ ว่า เรื่องสำคัญคอขาดบาดตาย โดยส่วนใหญ่คนจะไม่กล้าเสี่ยงครับ

โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องของคนที่เรารักและหวงแหนเช่น ลูกบังเกิดเกล้า หากภาวะทางเศรษฐกิจไม่บังคับ คุณพ่อคุณแม่ย่อมหาสิ่งที่ดีๆ ที่สุดมาให้ครับ (ลูกไม่ได้ร้องขอแต่พ่อแม่จัดให้ครับ)

เคยอ่านงานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศครับ เขาว่า เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาอย่างพวกเราเป็นกลุ่มไม่ชอบความเสี่ยง (Risk Averse)

ผมจะไม่ขอค้านความคิดแบบนี้ทั้งหมดทีเดียวครับ หากแต่ต้องพิจารณาประเด็นบางอย่างที่ชาวต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจครับ

การใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่มีต้นทุนสูงในการลงทุนผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการเกษตรของเรามักอิงกับความเสี่ยงสูง ๆ ทางด้านปัจจัยการผลิตเช่น ฝนและแดดที่ไม่สามารถควบคุมได้

ผนวกกับราคาผลผลิตที่เกษตรกรไม่อาจเลือกได้ ซึ่งดูผิวเผินแล้วเหมือนว่าเกษตรกรไทยชอบความเสี่ยง

แต่แท้จริงแล้วผมว่า เขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกของชีวิตที่ดีกว่าหรือเสี่ยงน้อยกว่านี้มากกว่าครับ เราอาจเรียกว่า เขาเลือกเกิดไม่ได้ครับ

ลองนำประเด็นเรานี้มาเชื่อมโยงกับความรู้ทางด้านการตลาดอันน้อยนิดของผม (หากจะถามลึก ๆ แล้วต้องอัญเชิญคุณธันยวัชน์มาตอบแทนครับ)

จะเปิดตัวสินค้าใหม่ให้กับตลาด

จะดึงความสนใจหรือความคิดที่จะลองเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่อย่างไร โดยอาศัยพฤติกรรมการเสี่ยงของแต่ละกลุ่มเบื้องต้นนี้

การสื่อสารผ่านวิถีทางการตลาดในเรื่องของความแปลกใหม่ที่พัฒนาตรงกับความต้องการของลูกค้าเพื่อทำให้สินค้าของท่านแตกต่างในทางบวก(Positively Differentiated Product) การสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย และ ความถูกตาต้องใจของผลิตภัณฑ์ ในราคาที่แต่ละกลุ่มลูกค้ายอมรับได้

น่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำให้เกิดความอยากที่จะเสี่ยงลองใช้ผลิตภัณฑ์ของท่าน

โจทย์ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มพวก Brand Loyalty สูง ๆ ที่อาจจะเกิดจากความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ไม่มีเสื่อมคลาย หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจนเกิดความเคยชินจนเป็นยากที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้

ก็คงต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่ำชองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบคิดของลูกค้าครับ
ความอยากเสี่ยงของลูกค้าในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของท่านก็ไม่ได้น้อยไปกว่าความเสี่ยงของท่านที่จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาด

แต่มันเสี่ยงกันคนละมุมครับ

ตอนหน้าผมจะจับโมเดลเดิม ๆ นี่แหละครับ มาวิเคราะห์ให้ดูครับว่าวิธีทั่วไปที่เขาทำกันเพื่อลดความสูญเสียจากความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันภัย หรือ บูชาองค์ท้าวจตุคามรามเทพตามกระแส มีผลอย่างไร ว่าจะแถมในเรื่องของมุมมองคนที่คิดจะโกงกับมุมมองคนที่จะกันไม่ให้โดนโกงเป็นเรื่องปิดบทสรุป ติดตามตอนต่อไปได้ครับ

Published in: on July 9, 2007 at 1:38 am  Comments (13)  

มุมมองต่อกลยุทธ์การแข่งขัน…ไมเคิล พอร์เตอร์

การศึกษาด้านกลยุทธ์เป็นเรื่องใหม่

ไม่มีการวิจัยด้านกลยุทธ์จนกระทั่งทศวรรษ 1950 และ 1960 ในแง่นี้กล่าวได้ว่าปริมณฑลด้านกลยุทธ์และการทำความเข้าใจด้านการแข่งขันถือว่าเป็นวิชาใหม่ที่กำลังมาแรง

แม้กระทั่งปัจจุบันพวกเราก็ยังคงเรียนรู้และสะสมความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันอย่างรวดเร็ว

ทว่าสิ่งจำเป็นต้องตระหนักก็คือ ขณะที่พวกเราเรียนรู้เกี่ยวกับการแข่งขัน

และขณะที่ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์วิธีการแข่งขันแพร่กระจายไปสู่วงกว้าง สภาพการณ์เช่นนั้นได้สร้างความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

เนื่องเพราะถ้าทุกบริษัทพยายามสร้างความได้เปรียบกันทั้งหมด ก็จะไม่มีความได้เปรียบอีกต่อไป

สาเหตุที่ต้องเรียนรู้ด้านการวางกลยุทธ์นั้นก็คือ หนึ่ง-เพราะว่าเรายังไม่รู้สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด สอง-เพราะกระบวนการของ

การเรียนรู้นั้นสร้างความต้องการสำหรับการเรียนรู้ใหม่ๆ

ปล.เพื่อความสมบูรณ์ โปรด Copy file สร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้วยนะครับ เป็นไฟล์ของเดือนที่แล้ว

Published in: on May 7, 2007 at 12:54 am  Comments (3)  

ว่าด้วยกลยุทธ์ (1)

kotler-what-is-marketing.pdfon_com3.jpg

ต้นเดือนธันวาคม อากาศยังร้อนยังกับอยู่ในเตาอบ ไม่มีทีท่าว่าจะได้เสื้อกันหนาว จะเย็นได้ก็ด้วยเครื่องปรับอากาศอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ขอโทษ เดือนสิบสอง นอกจากอากาศร้อนแล้วก็ยังมีฝนอีกนะ จากพายุทุเรียน โอ้! พระเจ้า

อย่างไรก็ตาม ธันวาคมยังมีกีฬาใหญ่อีกหนึ่ง นั่นคือเอเชี่ยนเกมส์

ผมไม่ค่อยดูกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ นอกจากเป็นกีฬาสำคัญที่ไทยมีโอกาสลุ้นก็จะนั่งเฝ้าหน้าจอ

หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือเซปักตะกร้อ

ดูแต่ทีมชาย ไม่เคยสนใจทีมหญิงเลย เพราะคิดว่าไม่มันหรอก

และไม่ได้ดูทีมหญิงจริงๆ ดูแต่ทีมชาย ซึ่งตกลงเอาชนะทีมมาเลเซีย ล้างแค้นที่เสียแชมป์ที่ฟิลิปปินส์

ผลการแข่งขันเซปักตะกร้อทีมหญิง น่าสนใจมาก เพราะทีมที่ชนะไทยคือเวียดนาม

ผมคิดอยู่เสมอว่าเซปักตะกร้อนั้น หากจะชิงแชมป์โลก ก็น่าจะมีเพียงสองชาติเท่านั้น ไทยกับมาเลเซีย จู่ๆเวียดนามชนะทีมไทยได้ ก็ยังงงอยู่ๆ

ตอนที่รู้ผลวันที่ 6 ธันวาคม ก็คิดว่าอยากจะเก็บประเด็นนี้มาพูดในรายการวิทยุที่ผมจัดที่เอฟเอ็ม 96.5 ช่วงเที่ยงครึ่งถึงบ่ายสอง จันทร์ถึงศุกร์

ซึ่งผมก็พูดจริงๆ

ทีมหญิงไทยแพ้ทีมหญิงเวียดนามเป็นภาพสะท้อนการแข่งขันระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งแข่งขันกันมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีที่ผ่านมา

วันนี้ก็ขับเคี่ยวกันขนานใหญ่

และคาดว่าไทยอาจจะแพ้เวียดนามทางเศรษฐกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ประเทศใดก็ตามที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็มักจะเก่งด้านกีฬาด้วย

ไม่เชื่อก็ดูญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน

ผมคิดว่าเวียดนามเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ก็เพราะคนและกลยุทธ์

พูดตามตรงประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ก็เพราะสูตรนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์

ประเทศที่เอ่ยมาข้างต้นนั้น ไม่ได้มีความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่เด่นตรงที่มีคนเก่ง

ประเทศไทยก็มีคนเก่ง มิเช่นนั้นคงไม่สามารถเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ได้ แต่คนไทยกลับไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ที่ไม่สามารถนำความเก่งมาใช้ได้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่

คนเก่งอย่างเดียวและทำงานเป็นทีมได้เท่านั้นยังไมพอ ต้องเก่งอย่างมีกลยุทธ์ด้วย

จู่ๆผมก็คิดถึงกลยุทธ์ขึ้นมาเฉยเลย

ใช่หรือไม่ว่าที่เราไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้ก็เพราะเรามีปัญหาเรื่องการวางกลยุทธ์

ในรายการวิทยุ ผมพูดไปถึง ซุนปิน ซึ่งเป็นหลานซุนวู ซึ่งเป็นเจ้าของพิชัยยุทธ์ซุนวูอันลือลั่น ตัวซุนปินก็ไม่เบาเพราะเป็นเจ้าของกลยุทธ์ “ล้อมเว่ยช่วยเจ้า”

แต่วันนี้ไม่ได้จะมาเขียนเรื่องซุนปิน เอาไว้หาโอกาสเหมาะๆค่อยถกกันถึงเรื่องนี้อีกทีก็แล้วกัน

วันนี้อยากพูดเรื่องกลยุทธ์ครับ

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ผมไปพูดให้ลูกค้าธนาคารกสิกรไทยฟังเรื่องภูมิปัญญาเอเชียตอนแรก

พูดเรื่องเคนอิชิ โอมาเอะ นั่นแหละ

เสียดายที่มีเวลาพูดเพียง 50 นาทีเท่านั้น หมดเวลาซะแล้ว

ตกเย็นไปสอนเอ็มบีเอ ก็เลยนำเนื้อหาที่จะพูดเมื่อตอนบ่ายนั่นแหละ ไปพูด 3 ชั่วโมงให้นักศึกษาของผมฟัง

โอมาเอะเพิ่งมาเมืองไทยเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา thaicoon ก็เพิ่งเขียนถึงเขาขึ้นปกไปเมื่อไม่นานมานี้เอง

ตามความเห็นของโอมาเอะนั้น กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ ก็คือกลยุทธ์ที่สอดรับกับจุดแข็งขององค์กรเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าให้เหนือกว่าคู่แข่ง

ดังนั้นหน้าที่ของนักวางกลยุทธ์ก็คือการบรรลุผลประกอบการสุดยอดเมื่อเปรียบเทียบกับการแข่งขัน โดยโฟกัสไปที่กุญแจความสำเร็จ(Key Success Factors) ขณะเดียวกันนักวางกลยุทธ์ต้องมั่นใจให้ได้ว่ากลยุทธ์ที่วางไว้สอดรับกับจุดแข็งขององค์กรซึ่งจำเป็นต้องนิยามตลาดให้ชัดเจน

การสอดคล้องนั้นเป็นเชิงสัมพัทธ์

ถ้าคู่แข่งขันสามารถยกระดับเทียบเท่ากับเราได้ เราก็จะไม่อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบอีกต่อไป

และถ้าวิธีกลยุทธ์ในการเจาะลูกค้าไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ลูกค้าก็จะแยกความแตกต่างไม่ออก สุดท้ายก็รู้กันดีว่าต้องจบลงที่สงครามราคา ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ทว่าบริษัทจะเจ็บตัว

ในรอบหลายสิบมานี้ มักจะนำธุรกิจไปเปรียบเทียบกับสงคราม ซึ่งมีเป้าหมายเหมือนกัน นั่นคือสร้างเงื่อนไขให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนมากที่สุด ตัดสินว่าในช่วงเวลานั้นว่าจะโจมตีหรือถอย

พิชัยสงครามทางทหาร จึงถูกนำมาปรับใช้กับโลกธุรกิจหลายเล่ม

ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็น พิชัยยุทธ์ซุนวู

หากเป็นของญี่ปุ่นก็ต้องเป็นคัมภีร์ห้าห่วงของมูซาชิ

ยุโรปจะมี On War ของ Clausewitz ซึ่งถือว่าเป็น “ซุนวูยุโรป”
ไมเคิล พอร์เตอร์ บอกว่าในการบริหารจัดการธุรกิจนั้น ทุกบริษัทในทุกอุตสาหกรรมต้องมีกลยุทธ์การแข่งขันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะโดยแจ่มแจ้งหรือซ่อนเร้นก็ตาม

หัวใจสำคัญของการวางกลยุทธ์นั่นอยู่ที่การเชื่อมโยงเข้ากับสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมนั้น

พอร์เตอร์ให้ความสำคัญกับโครงสร้างอุตสาหกรรมมาก

เขาบอกว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมจะเป็นตัวกำหนดกฏเกณฑ์การแข่งขันในอุตสาหกรรม

ขณะที่พลังนอกอุตสาหกรรมก็สำคัญเช่นกัน

เพราะจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้วย!!!

ปล.เห็นไฟล์ใกล้รูปไหมครับ เป็น PDF File จากหนังสือ คุณถาม คอตเลอร์ตอบ 4 หน้า เด็ดมากๆ รีบ download ไป ก่อนจะลบนะครับ

Published in: on May 1, 2007 at 12:49 am  Comments (29)