ผู้นำระดับห้า (Level 5 Leader): ส่วนผสมที่ลงตัวของความถ่อมตัวกับความมุ่งมั่น

Level 5 เป็นการศึกษาคุณลักษณะที่เป็นคู่กัน เช่น ความถ่อมตัวกับความมุ่งมั่น ความขี้อายกับหาญฮึก เพื่อทำความเข้าใจและเห็นภาพรวมลองพิจารณาตัวอย่างของ Abraham Lincoln ผู้ไม่ยอมปล่อยให้อัตราเบี่ยงเบนความทะเยอทะยานเพื่อสร้างประเทศที่ยิ่งใหญ่แบบยั่งยืน

Henry Adams นักเขียนชื่อดังเรียกเขาว่า บุคคลที่เงียบขรึม สงบ และขี้อาย มันอาจจะเกินไปถ้าจะเปรียบเทียบ ผู้นำระดับห้า ทั้ง 11 คน กับ Lincoln แต่พวกเขาแสดงความเหมือนของคุณลักษณะที่เป็นคู่กันในบางแง่

Colman M. Mockler ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Gillette ตั้งแต่ปี 1975-1991 เผชิญความพยายามครอบงำกิจการถึง 3 ครั้ง เขาเป็นคนที่มีความสงบเสงี่ยม มีเมตตา สุภาพอ่อนโยนเข้าขั้นผู้ดีเลยทีเดียว ทั้งที่ช่วงบริหารงานเป็นยุคแห่งสงครามธุรกิจ ความพยายามเทกโอเวอร์ 2 ครั้งจาก Ronald Parelman และ 1 ครั้งจาก Coniston Parners ทว่า Mockler ไม่เคยสูญเสียความเงียบขรึม และความสุภาพ ในช่วงวิกฤตที่สุดของการดำเนินธุรกิจต่อไป ก่อนที่จะฝ่าฟันกับการครอบงำกิจการ เขาก็ยังคงรักษาความสงบในบริษัทได้เป็นปกติเฉกเช่นเคย

คนไม่น้อยเข้าใจว่าความถ่อมตัวที่เขาแสดงออกมาเป็นสัญลักษณ์ของ ความอ่อนแอภายใน ซึ่งไม่จริง

การห้ำหั่นกับนักเทกโอเวอร์ครั้งหนึ่ง Mockler และทีมผู้บริหารอาวุโสของบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้นหลายพันคนทีละคน เพื่อขอให้คนเหล่านั้นไม่ขายหุ้นออกไป ดูเหมือนว่าเขาไม่ยอมจำนน เขาเลือกที่จะต่อสู้เพื่อความยิ่งใหญ่ในอนาคตของ Gillette ทั้งที่เขาอาจจะได้เงินอีกหลายล้านเหรียญจากราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้น

ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นที่ยอมรับราคาเสนอซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 44 % แล้วนำเงินที่ขายหุ้นกลับมาลงทุนในตลาดต่อไปอีก 10 ปี ผลตอบแทนที่เขาได้รับจะต่ำกว่าผู้ที่ยังคงถือหุ้นของ Gillette ซึ่งมี Mockler นั่งบริหารอยู่ถึง 64 % ถ้า Mockler ไม่สู้ต่อพวกเราคงไม่ได้ใช้มีดโกนหนวดที่มี sensor, Lady sensor หรือ Mach III และคนอีกหลายร้อยล้านในโลกคงจะต้องได้แผลจากการโกนหนวดทุกเช้าเป็นแน่

น่าเศร้าที่ Mockler ไม่มีโอกาสได้ภาคภูมิใจอย่างเต็มที่กับผลแห่งความพยายามของเขา ในเดือนมกราคม 1991 บริษัทได้รับนิตยสาร Forbes ฉบับล่วงหน้าก่อนวางแผง ซึ่งลงเรื่อง Mockler เป็นเรื่องปก และมีรูปเขายืนอยู่บนยอดสูง กำลังชูใบมีดใบใหญ่เหนือศีรษะ โพสท่าแสดงความยินดีในชัยชนะ เพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่เห็นว่าสาธารณชนรับรู้ถึง 16 ปี แห่งความอุตสาหะ และยากลำบาก ในห้องทำงานของเขา Mockler ล้มลงกับพื้นและสิ้นใจเนื่องจากหัวใจวายเฉียบพลัน

ถึงแม้ Mockler จะล่วงรู้ว่าเขาอาจจะต้องตายในห้องทำงาน เขาก็อาจไม่มาทำงาน

บุคลิกที่สงบเสงี่ยมของเขาบดบังความมุ่งมั่น และเสียสละที่จะทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด มิใช่เพราะสิ่งที่เขาอาจได้รับกลับมา แต่เพราะเขาไม่สามารถคิดถึงการทำสิ่งเหล่านั้นในหนทางอื่นได้ Mockler ไม่เคยยอมแพ้ปล่อยบริษัทให้ตกอยู่ในมือของผู้ที่อาจทำลายมัน ไม่ต่างจาก Lincoln ที่ไม่ยอมเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสในการสร้างชาติที่ยิ่งใหญ่ให้ยืนยงสืบไป

Published in: on April 29, 2007 at 4:11 pm  Comments (7)  

ผู้นำระดับ 5 ชัยชนะของความอ่อนน้อมถ่อมตน และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า

ผู้นำระดับ 5 (Level 5 Leadership)
ชัยชนะของความอ่อนน้อมถ่อมตน และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า
บทเรียนจาก Good to Great

ในปี 1971 Darwin E. Smith ถูกเสนอชื่อให้เป็น CEO ของ บริษัท Kimberly-Clark บริษัทผลิตกระดาษอนุรักษ์นิยมผลตอบแทนหุ้นในช่วง 20 ปีก่อนหน้าก็ต่ำกว่าตลาดรวมถึง 36 % Smith เป็นทนายความประจำบริษัท บุคลิกสุภาพ เงียบขรึม เขาไม่ค่อยแน่ใจว่าคณะกรรมการจะตัดสินใจถูกต้อง กรรมการบริษัทคนหนึ่งมองว่าเขาขาดคุณสมบัติบางอย่าง ทว่าในที่สุด Smith ก็ก้าวขึ้นเป็น CEO และดำรงตำแหน่งนี้นานถึง 20 ปี ภายใต้การบริหารของเขาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าพิศวง และส่งผลให้บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจกระดาษชำระ (Consumer paper) ของโลก

Kimberly-Clark เอาชนะคู่แข่งอย่าง Scott และ Procter & Gamble ยิ่งไปกว่านั้นหุ้นของบริษัทยังให้ผลตอบแทนสะสมมากกว่าผลตอบแทนโดยรวมของตลาดถึง 4.1 เท่า ผลตอบแทนที่ว่านี้สูงกว่าหุ้นของบริษัทที่มีประวัติยาวนานน่าเลื่อมใสอย่าง Hewlett-Packard, 3M, Coca-Cola, รวมทั้ง GE

การฟื้นฟู Kimberly-Clark ของ Smith ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 การที่ผู้บริหารนำพาบริษัทที่แทบจะไม่มีอะไรดีให้กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงได้

ทว่าน้อยคนนักจะรู้จักชื่อของ Darwin E. Smith กระทั่งนักศึกษาที่เรียนด้านประวัติศาสตร์ธุรกิจเองก็ตามบางที Smith อาจจะชอบที่ไม่มีคนรู้จัก แม้เขาจะเป็นตัวอย่างคลาสสิกมากของผู้นำระดับห้า (Level 5 Leader) ในฐานะคนๆ หนึ่ง ซึ่งผสมผสานความถ่อมตัวอย่างสุดขั้ว (extreme personal humility) กับความมุ่งมั่นในวิชาชีพอย่างแรงกล้า (intense professional will) เนื่องเพราะการศึกษาตลอด 5 ปี พบว่าผู้บริหารที่มีคุณสมบัติที่ขัดแย้งในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นที่พบเห็นไม่บ่อยนัก ในการพลิกโฉมบริษัทดีให้กลายเป็นบริษัทดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง

Level 5 ถือเป็นระดับสูงสุดของความสามารถผู้บริหาร ผู้นำตั้งแต่ระดับหนึ่งถึงระดับสี่อาจจะสร้างความสำเร็จในระดับสูงได้ ทว่ายังไม่ดีพอ ที่จะยกระดับบริษัทธรรมดาๆ ให้เป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าผู้นำระดับห้าจะไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่จะพลิกโฉมบริษัท
แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการพลิกโฉมของบริษัทจะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากผู้นำระดับห้า

บุคลิกสุดหยั่งคาดของผู้นำระดับห้า

การค้นพบเกี่ยวกับผู้นำระดับห้า (Level 5 Leader) เป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อสัญชาตญาณจริงๆ แล้วเข้าขั้นฝืนความนึกคิด คนทั่วไปมักจะคาดเดาว่าการพลิกโฉมจากบริษัทชั้นดีไปสู่บริษัทชั้นเลิศนั้นต้องการผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มากกว่าผู้นำที่ดูเป็นมนุษย์เดินดินจริงๆ หรือผู้นำที่มีบุคลิกภาพโดดเด่น เช่น Iacocca (Chrysler), Dunlap (Scott Paper), Welch (GE), และ Gault (Rubbermaid) ซึ่งมักทำตัวเป็นข่าวจนกลายเป็นคนดังที่ใครต่อใครรู้จักไปทั่ว

Smith ดูราวกับมาจากดาวอังคารเมื่อเปรียบเทียบกับ CEO เหล่านี้ ความเงียบขรึม ถ่อมตัว เคอะเขิน เป็นคุณสมบัติที่ทำให้เขาหลบเลี่ยงจากความสนใจของผู้คนเมื่อนักข่าวถามเกี่ยวกับสไตล์การบริหารของ Smith เขาปล่อยให้ทุกคนอยู่ในภาวะเงียบงันและอึดอัดอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตอบว่า “บ้าระห่ำ (Eccentric)”

หากท่านมองว่า Smith เป็นคนอ่อนโยนและนุ่มนวลท่านกำลังเข้าใจผิดมหันต์ การไม่เสแสร้ง ประสานกับความเอาจริงเอาจัง อดทน มุ่งมั่นในชีวิต Smith เติบใหญ่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในอินเดียนา ส่งเสียตนเองเรียนภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา โดยทำงานช่วงกลางวันที่ International Harvester กิจวัตรประจำวันของเขาคือการไปเรียนช่วงค่ำและตื่นมาทำงานในวันรุ่งขึ้น วันหนึ่งเขาเสียนิ้วมือไประหว่างการทำงาน ในที่สุดเด็กชาวนาผู้ยากจนแต่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นก็สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายที่ดีที่สุด เมื่อ Harvard law school ตอบรับเขาเข้าเป็นนักศึกษากฎหมาย

เขาแสดงให้เห็นความตั้งใจเด็ดเดี่ยวแบบเดิม เมื่อเข้ากุมบังเหียนในฐานะ CEO ของ Kimberly-Clark หลังจากดำรงตำแหน่ง CEO ได้ 2 เดือน แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็งจมูก-คอ และจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 1 ปี เขาแจ้งเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแก่คณะกรรมการบริหารบริษัท แต่ก็สำทับว่าเขายังไม่มีแผนลาโลกในเร็ว ๆ นี้

เขาทำงานตามกำหนดอย่างที่ตั้งใจ ขณะเดียวกันก็ต้องเดินทางไปมาระหว่าง Wisconsin กับ Houston ทุกอาทิตย์เพื่อรับการรักษาด้วยรังสี Smith มีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 25 ปี มีวาระแห่งการเป็น CEO นานถึง 20 ปี

การแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของ Smith คือการสร้าง Kimberly-Clark ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาตัดสินใจขายโรงงาน ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของบริษัท หลังจากที่เข้ารับงานในบริษัท Smith และทีมงานลงความเห็นว่าธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทคือการทำกระดาษเคลือบ (coated paper) ใกล้จะแย่ เศรษฐกิจไม่ดีคู่แข่งอ่อนแอ แต่ถ้า Kimberly-Clark เข้าสู่ความโชติช่วงของธุรกิจกระดาษชำระ เผชิญหน้ากับคู่แข่งระดับ World Class อย่าง P&G อาจจะผลักดันให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างงดงามหรือไม่ก็ย่อยยับไปเลย

ไม่ต่างจากนายพลที่เผาเรือเมื่อขึ้นฝั่งบนแผ่นดินของข้าศึก ปล่อยกองทหารไปยึดที่มั่นให้สำเร็จหรือไม่ก็ตายเสีย Smith ประกาศว่า Kimberly-Clark จะขายโรงงาน ไม่เว้นแม้แต่โรงงานที่ Kimberly ใน Wisconsin
การดำเนินการทั้งหมดเพื่อก้าวสู่ธุรกิจกระดาษชำระ มีการลงทุนในแบรนด์ เช่น Huggies diapers และ Kleenex tissue

นักข่าวเรียกการกระทำนี้ว่าเป็นก้าวย่างที่โง่เขลา นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้น Wall Street ลดอันดับหุ้นของบริษัทลง แต่ Smith ไม่เคยหวั่นไหว 25 ปีหลังจากนั้น Kimberly-Clark เป็นเจ้าของ Scott paper และเอาชนะคู่แข่งอย่าง P&G โดยสินค้าในหมวดเดียวกัน 6 ใน 8 ชนิด ของ Kimberly-Clark มีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า P&G
เขาได้รับการยอมรับในผลงาน Smith กล่าวคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ในวันเกษียณว่า “ผมไม่เคยละความพยายามเพื่อให้งานอยู่ในมาตรฐานที่ดี”

Published in: on April 27, 2007 at 1:06 pm  Comments (16)  

วันนี้คุณห้อยจตุคามรามเทพ หรือยังครับ

jatu1.jpg

การบูมจนกระทั่งกลายเป็นกระแสของจตุคามรามเทพนั้น หากจะว่ากันไปแล้วก็ไม่ได้ต่างจากกระแสอื่นๆ

สังคมไทยเป็นสังคมที่ปั่นให้เกิดกระแสได้ง่าย และกระแสก็จางหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ยกตัวอย่างกระแสโรตีบอย ที่ก่อนหน้านั้นสักปีต้องต่อแถวรอซื้อกัน 50-60 คน กว่าจะได้กินแต่ละที ถึงกับมีอาชีพรับจ้างต่อแถวซื้อโรตีบอยเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีอีกหลายเจ้ามาเปิดขายประชันขันแข่ง จนกระทั่งกลายเป็นของหากินได้ง่ายไม่มีอะไรแตกต่างอีกต่อไป

กระแสโรตีบอยก็ถึงจางหายไป

ทุกวันนึ้ถึงจะมีโรตีบอยเหมือนเดิม ทว่าไม่จำเป็นต้องลำบากไปต่อคิวอีกต่อไปแล้ว

กระแสการบูมคอนโดกลางเมืองก็เป็นเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ปีเศษๆ คอนโดเปิดใหม่ของแอลพีเอ็นหรือพลัส เปิดตัวแต่ละครั้งคนต้องไปเข้าคิวเพื่อรับใบจองล่วงหน้าเป็นสิบๆชั่วโมง ทำราวกับว่าคอนโดแจกฟรี ทั้งที่ราคาเป็นล้านๆบาท จนถึงทุกวันนี้บางคอนโดกลางเมืองที่ทำเลดี ใกล้รถไฟฟ้า ราคายุติธรรม ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ จนกระทั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ต่างโดดลงมาทำคอนโดกลางเมืองแนวรถไฟฟ้ากันหมด ทำให้กระแสคอนโดกลางเมืองค่อยซาลงไปหน่อย

แต่ก็ยังไม่จางหายไปเหมือนกับโรตีบอย เพราะความต้องการในการอยู่คอนโดกลางเมืองแนวรถไฟฟ้ายังมีอยู่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ จูงใจให้คนซื้อเพื่ออยู่อาศัย ลงทุนเพื่อปล่อยเช่า และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสไหลลื่นก็คือผู้จองเพื่อขายใบจอง ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างผลกำไรดีทีเดียว

กระแสคอนโดกลางเมืองแนวรถไฟฟ้าคงไม่จางหายไปเร็วๆนี้ แต่นับจากนี้ไปคอนโดที่ทำเลดี ราคาและคุณภาพโอเคเท่านั้นถึงจะยังไปได้

กระแสจตุคามรามเทพเป็นคนละแบบ เพราะเป็นกระแสที่เกิดจากศรัทธาเป็นสำคัญ

จตุคามรามเทพรุ่นแรกนั้นของขุนพันธุ์ฯนั้นย้อนหลังกลับไปถึงปี 2530 ช่วงเวลานั้นแทบไม่มีใครรู้จักในวงกว้างทั้งขุนพันธุ์ฯและจตุคามรามเทพ

จวบจนกระทั่งกลางปี 2549 กระแสจตุคามรามเทพก็เกิดขึ้นกะทันหัน ผู้คนทั้งประเทศ ทุกเพศ ทุกวัยรู้จักกันหมด พร้อมๆกับจตุคามฯชื่อขุนพันธุ์ฯ นายตำรวจจอมขมังเวทย์ ผู้สร้างจตุคามรามเทพรุ่นแรกก็โดดเด่นคู่กับจตุคามฯ

หากจะวิเคราะห์กระแสจตุคามรามเทพทั่วๆไปก็คงต้องบอกว่าเป็นเพราะการพูดกันปากต่อปาก และสื่อโหมกระพือ
คำถามก็คือก็แล้วทำไมเพิ่งจะมาพูดกันปากต่อปากจนดังไปทั้งประเทศสูงสุดเมื่อกลางปี 2549 ทั้งๆที่จตุคามฯรุ่นแรกสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2530 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว

การบูมจนกลายเป็นจตุคามณฟีเวอร์ไปทุกวงการเช่นนี้ราวกับเป็นการระบาดของเชื้อไวรัส ต้องใช้กรอบความคิดจากหนังสือ “จุดชนวนคิด พลิกสถานการณ์” หรือ The Tipping Point เขียนโดย Malcolm Gladwell น่าจะให้ภาพที่ดีที่สุด
ปัจจัยที่ให้เกิดการระบาดของกระแสหรือปรากฏการณ์ต่างๆนั้นขึ้น Gladwell บอกว่ามีหลัก 3 ประการ

1.เกิดจากคนจำนวนน้อย

2.ปัจจัยติดหนึบหรือสิ่งที่ดึงดูดให้กระแสนั้นน่าสนใจ

3.บริบทที่ก่อให้เกิดกระแส

สภาพแวดล้อมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยนั้นแย่มาก ความขัดแย้งทางการเมืองสูง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่ำ การทำมาหากินเริ่มฝืดเคือง

ภายใต้บริบทแบบนี้ ผู้คนไร้ที่พึ่ง หนึ่งเดียวที่ทุกคนบ่ายไปหาคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยให้รอดและรวย
จตุคามรามเทพนั้นเป็นที่ร่ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์ใหม่ที่ยิงไม่เข้า ฟันไม่ระคายผิว ใครที่ห้อยจตุคามฯจะแคล้วคลาด ในยามที่อันตรายรอบตัวเช่นนี้ ใครก็อยากแคล้วคลาด

และมีคำร่ำรือว่าจตุคามฯจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ มั่งมีศรีสุข เงินทองไหลมาเทมา

“รอดและรวย” คือปัจจัยติดหนึบของจตุคามฯ

สาเหตุอีกประการที่ทำให้บูมเริ่มต้นจากเพียงไม่กี่คนที่คล้องจตุคามฯแล้งแคล้วคลาด ก็เล่าให้คนอื่นฟัง บางคนขอแล้วรวย คนอื่นๆก็รู้ก็พูดกันไปทั่ว

จนกระทั่งคนดัง ดารา ห้อยจตุคามกันเยอะแยะและประกาศให้คนรู้ สื่อมวลชนทุกแขนงเริ่มตีพิมพ์ ออกอากาศ
คนทั้งประเทศต่างประจักษ์ในฤทธานุภาพ

จนกระทั่งมีการปลุกเสกจตุคามฯกันทั้งประเทศ

หน่วยงานต่างๆก็ผลิตจตุคามฯถ้วนหน้า

มีการโฆษณาตามหนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต มีคีออส เช่าได้ตามเซเว่นฯ

จตุคามฯจึงกลายเป็นวัตถุมงคลที่คนไทยทุกคนจำเป็นต้องมี

โดยเฉพาะภายใต้บริบทเช่นนี้

ที่คนไทยไร้ที่พึ่ง

Published in: on April 26, 2007 at 8:32 am  Comments (29)  

คุณรู้จัก Guru ไหมครับ!?!

คำว่า Guru เป็นภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาอังกฤษ โดยมาจากคำว่า “ครุ” ซึ่งแปลว่า “หนัก” อันนำมาสู่คำว่า “ครู” ที่ใช้กันในภาษาไทย

ในอินเดียจะเรียกว่าท่านผู้รู้ว่า ท่านคุรุ ต่อมาในระยะหลังฝรั่งก็เลยนำคำนี้ไปใช้ในภาษาของตนเองโดยนำไปใช้เรียกผู้รู้ในสาขานั้นๆ อย่างแท้จริงโดยแฝงการเป็นผู้นำที่สามารถชักชวนผู้คนให้คล้อยตามตนเองโดยการผลิตผลงานที่จับต้องได้

ดูๆ แล้วกูรูก็เหมือนกับผู้นำลัทธิอะไรทำนองนั้นเพียงแต่ผู้นำลัทธิที่พาคนไปตาย เขาไม่เรียกว่า Guru เพราะคำๆ นี้มีความหมายที่ดี

คำว่า Guru ที่นิยมใช้กันก็เอาไว้เรียก Management Guru นี่แหละคำๆ นี้เพิ่งเป็นที่นิยมกันเมื่อสักยี่สิบกว่าปีมานี้เอง ซึ่งเป็นช่วงที่ความนิยมในหนังสือด้านการจัดการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นักคิดนักเขียนสาขานี้โด่งดังเป็นที่รู้จักและได้รับการสถาปนาให้เป็นกูรูกันไปเกือบหมด

Guru เมื่อแปลเป็นภาษาไทยให้สละสลวย อาจใช้คำว่า “บรมครู” , “ปรมาจารย์”หรือ “มหาคุรุ” ตามแต่ใจเขียน

บ้างก็ทับศัพท์ว่า “กูรู” ไปเลย เพราะสอดคล้องกับคำว่า “กูรู้” ในภาษาไทย

ซึ่งบางคนว่าแปลกวนๆ แต่ผมคิดว่าโอเคน่า

อย่าคิดอะไรมาก น้ำมันยิ่งแพงๆอยู่

อันที่จริง พวกที่ถูกเรียกขานกันว่ากูรูนั้นหากไปถาม เขาก็ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรนักหรอก ค่อนข้างจะกระดากเสียด้วยซ้ำไป
เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนที่จะเป็นกูรูได้นั้นต้องมีผลงานยิ่งใหญ่ที่สั่นสะเทือนสังคมได้

และเป็นผลงานที่ส่งผลอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไม่ใช่เป็นพวกดาวตกหรือผีพุ่งใต้ที่มาเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จากไป
ระยะหลังมีการใช้คำๆ นี้ออกไปแบบเปรอะ อาทิ มีหนังสือบางเล่มอย่าง Guru Guide ที่มีกูรูเต็มไปหมด เขียนหนังสือเพียงเล่มเดียวพอหนังสือดังก็เรียกขานกันว่าเป็นกูรูไปทั้งหมด

ดังนั้นถึงได้บอกให้ดูดีๆ กูรูน่ะมีทั้งของจริง และของปลอม

Published in: on April 25, 2007 at 2:36 am  Comments (12)  

Modern Trade War กินแบ่ง อย่ากินรวบ

สังคมไทยเป็นสังคมที่สงบศึก ไม่เคยการศึกสงครามครั้งใหญ่มาก่อน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อใดก็ตามเมื่อเกิดความไม่สมดุลทางอำนาจ

หรือพูดง่ายๆเมื่อเกิดมีใครคนใดคนหนึ่งเกิดมีอำนาจมากเกินไป จนสามารถชี้ให้ใครเป็นหรือตายได้นั้น จะเกิดความไม่สมดุล
และเมื่อใดก็ตามที่เกิดภาวะไร้ความสมดุลแล้วไซร้

สภาวะดังกล่าวย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน ในที่สุดก็จะเกิดการต่อต้านจนอำนาจรวมศูนย์เหล่านั้นย่อมพังทลาย

ระบอบโมเดอร์นเทรดนั้นแข็งแกร่งเกรียงไกร เพราะมีอำนาจต่อรองเหนือซัพพลายเออร์ และแผ่ขยายไปทั่วทุกหัวระแหง จนโชห่วยแทบไม่มีที่ยืน

โมเดอร์นเทรดนั้นขยายตัวด้วยการเปิดห้างขนาดใหญ่นั้น แม้จะทำให้โชห่วยล้มหายตายจากไปมาก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสูญพันธุ์ เพราะถือว่ายังอยู่คนละเซ็กเม้นท์ อย่างไรก็ตามการลงมาเปิดโลตัสเอ็กสเพรสนั้น หมายถึงการลงไปถึงระดับอำเภอตำบลเล็กลงไปอีก ซึ่งนับวันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอีก

ซึ่งสุดท้ายแล้วโชห่วยก็จะตายสนิททันที

โชห่วยตายนั้นไม่ได้ตายเดี่ยว เพราะยี่ปั้ว ซาปั้ว ก็ต้องตายไปด้วย

อีกทั้งโชห่วยก็ไม่ได้หมายถึงร้านค้าเบ็ดเตล็ดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงร้านค้าประเภทอื่นๆที่ทำธุรกิจเดียวกับโมเดอร์นเทรด เช่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายยา ตลาดสด ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ทุนข้ามชาติทำลายทุนท้องถิ่นขนาดเล็กนั่นเอง

ไม่แปลกที่เกิดการประท้วงกันทั่วทั้งประเทศ

Published in: on April 24, 2007 at 12:02 am  Comments (11)  

Modern Trade War-อย่าคิดว่าตนเองได้เปรียบแล้วจะทำอะไรก็ได้

ในโลกธุรกิจนั้นปลาเล็กกินปลาใหญ่

ยิ่งเป็นปลาต่างชาติแล้วก็ย่อมจับปลาซิวปลาสร้อยไทยเป็นภักษาหารได้อย่างโอชา

การเป็นปลาใหญ่ในท้องทะเลนั้น ยิ่งนานวันก็หาคนต่อต้านได้ยาก เพราะยิ่งอยู่นาน อาณาจักรก็กว้างใหญ่ไพศาลและมั่นคง
ยิ่งขึ้น

อำนาจที่โมเดอร์นเทรดมีนั้นเป็นอำนาจกึ่งผูกขาด

ใครก็ไม่สามารถต่อรอง และถึงจะมีอำนาจต่อรอง ก็น้อยเกินไป ไม่อาจทัดทานพลานุภาพของเหล่าโมเดอร์นเทรด

คนเรานั้นเมื่อมีฤทธิ์เดชนั้นก็มักจะหลงคิดไปว่าไม่มีใครต่อกรได้ ก็แผลงฤทธิ์เอากับพวกปลาซิวปลาสร้อย

จริงๆการที่โมเดอร์นเทรดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทสโก้โลตัสแผ่กิ่งก้านสาขากลางกรุงและกลางเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดนั้น ถือว่าหาได้ยากในต่างประเทศ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกจะเหมือนประเทศไทยอีกแล้ว คืออยากจะเปิดห้างที่ไหนก็เปิดไปเลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กลางเมืองขนาดไหนก็ตาม ไม่มีใครห้าม ทั้งๆที่ประเทศอื่นๆนั้นห้ามกันอย่างเคร่งครัดทีเดียว

การทำอะไรได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีใครคอยขัดนั้นทำให้เกิดความฮึกเหิม

เมื่อพื้นที่กลางเมืองหมด ก็ต้องใช้กลยุทธ์ใหม่ๆในการเจาะตลาด ซึ่งไม่เห็นอะไรจะดีกว่าการใช้โมเดล “โลตัสเอ็กสเพรส” ซึ่งใช้ได้ผลมาแล้วในปั้มน้ำมัน

โลตัสคงเห็นอัรตราการเจริญเติบโตของ 7-11 ซึ่งโตวันโตคืนถึง 3,000 สาขา ก็ไม่เห็นมีใครไปโจมตีอะไรเลย ทั้งๆที่ 7-11 ก็ถือว่าเป็นโมเดอร์นเทรดประเภทหนึ่งเหมือนกัน ก็คงคิดว่าเหล่าโชห่วยตายไปหมดแล้วกระมัง หรือคิดอยากจะทำอะไรได้

ทว่ารุกของโลตัสเอ็กสเพรสนั้นถือว่าเป็นการรุกครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโชห่วยท้องถิ่นมาก ลำพัง 7-11 ในต่างจังหวัดนั้นไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นักหรอก เพราะเป็นร้านเล็กๆ ไม่มีของอะไรขายมากนัก แถมของที่ขายนั้นมีราคาสูง ต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยมีใครนิยม ทว่าเอ็กสเพรสของโลตัสนั้นเป็นภัยคุกคามต่อโชห่วยและบรรดาธุรกิจท้องถื่นๆ เพราะโลตัสเอ็กสเพรสได้รวมตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ เข้าด้วยกัน

ด้วยเนื้อที่ที่ใหญ่กว่า และเจตจำนงในการรุกตลาดต่างจังหวัดเต็ม ทำให้โชห่วยซึ่งถูกรุกไล่จนไม่มีที่ยืนแล้วให้รุกขึ้นมาสู้

ถ้าจะว่าก็เหมือน ดร.ทักษิณ ที่คุมอำนาจทุกหัวระแหง และเหิมเกริมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันตนก็มีจุดอ่อนอยู่มากตั้งแต่ก่อนจะขึ้นเป็นนายกฯแล้ว เมื่อสร้างจุดอ่อนเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน ก็ยากที่จะอยู่ได้เมื่อเผชิญกองทัพพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถึงที่สุดก็ล้มรัฐบาลได้

กองทัพโชห่วยและผู้สนับสนุนที่ประท้วงไปทั่วทุกระแหงนั้น ก็เพราะทนการรุกราวพายุบุแคมต่อไปไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาประท้วงกลางแดด

ก็เพื่อต้องการสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลออกกฎหมายค้าปลีกจัดการกับโมเดอร์นเทรดให้หมด

อีกไม่นานโลตัสกำลังจะถูกดาบสองเป็นแน่

Published in: on April 21, 2007 at 1:15 am  Comments (26)  

สงครามการตลาด -2

ในการสัประยุทธ์เพื่อชัยชนะในสงครามการตลาดนั้น มี 4 ยุทธวิธี

การล่วงรู้ว่าจะใช้ยุทธวิธีในการทำสงครามแบบใด คือการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด

ถ้าอยู่ในฐานะผู้นำตลาดก็ต้องใช้การตลาดแบบปกป้อง(Defensive Strategy)

หากเป็นเบอร์ 2 ก็ต้องเลือกยุทธวิธีเชิงรุก

การโจมตีด้านข้าง(Flanking Marketing) เหมาะกับเบอร์ 3-4

ส่วนสงครามกองโจรนั้น คือยุทธวิธีที่บริษัทขนาดเล็ก หรือบริษัทท้องถิ่น

สองกุมารชี้ว่า ผู้นำตลาดเท่านั้นจึงสมควรใช้การตลาดแบบป้องกันตนเอง

และการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือความหาญกล้าในการโจมตีตัวเอง

Intel เจ้าพ่อชิพได้แสดงให้เห็นแล้วว่าขณะที่ตนเองเป็นผู้นำนั้น เมื่อคู่แข่งขันเริ่มเข้ามาใกล้ ต้องใจกล้าทิ้งธุรกิจเดิม

แอนดรู กรู๊ฟ ซีอีโอ Intel ช่วงนั้นตัดใจทิ้งธุรกิจ Dram เมื่อเห็นว่าคู่แข่งขันจากญี่ปุ่นผลิตได้ถูกกว่า เขาตัดสินใจนำ Intel ก้าวเข้าสู่การผลิตไมโคร โพรเซสเซอร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของ Intel ทำให้ Intel เติบโตอย่างก้าว กระโดด กลายเป็นผู้นำตลาดไร้เทียมทาน

และในฐานะผู้นำตลาด เมื่อคู่แข่งขันมีการเคลื่อนตัวที่แข่งแกร่ง ต้องรีบบล็อกโดยด่วนก่อนจะสายจนเกินไป

สองปีที่แล้ว Orange ประกาศลดราคาค่าโทรเหลือนาทีละบาทตลอด 24 ชั่วโมง

Orange ทำตัวราวกับเป็นเบอร์ 2 ใช้ยุทธวิธีเชิงรุก

ขณะที่ดีแทคก็วางตัวราวกับเป็นเบอร์ 1 มองว่ายุทธวิธีของ Orange เป็น Strong Competitive Move จึงบล็อกด้วยการลดราคาเหลือนาทีละ 1 บาทประกบทันที

และบล็อกไปเรื่อยๆจนเหลือนาทีละ 25 สตางค์

เมื่อดีแทคออกโปรโมชั่น Work จ่าย 3 นาที โทรได้หนึ่งชั่วโมง Orange ก็บล็อกกลับด้วยโปรโมชั่น จ่าย 1 นาทีโทรได้ 1 ชั่วโมง

เบอร์สองกับเบอร์สามซดกันอย่างหนัก

เบอร์หนึ่งอย่างเอไอเอสไม่ขยับ ทำขรึมรักษารูปมวย

สุดท้ายแทบกระอักเลือดเมื่อตัวเลขการไหลออก

เป็นเพราะไม่ปฏิบัติตามกฏของการปกป้องตลาดนั่นเอง

Published in: on April 19, 2007 at 5:15 pm  Comments (19)  

สองทศวรรษ Marketing Warfare : ยุทธศาสตร์ยังไม่เปลี่ยน ตอน 1

mkt-warfaree.jpgCourage is grace under pressure.
– Ernest Hemingway

หนังสือที่มีอายุ 20 ปีแล้วยังขายได้ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก

พิชัยสงครามซุนวูที่มีอายุหลายพันปี ทุกวันนี้ก็ยังพิมพ์ขายได้อยู่

ทว่าหนังสือการตลาดที่มีอายุยืนยาวสองทศวรรษ และยังขายดีอยู่นั้น มีน้อยกว่าน้อย เพราะการตลาดไม่ใช่วิชาตายตัว

การตลาดเป็นวิชาร้อยเปลี่ยนพันแปลง ไม่มีที่สิ้นสุด

Marketing Warfare ไม่ใช่หนังสือการตลาดที่ดีที่สุด

อีกทั้งไม่ได้เขียนโดยนักการตลาดระดับปรมาจารย์เช่นฟิลิป คอตเลอร์

คำถามก็คือแล้วทำไม Marketing Warfare จึงยังคงเป็นหนังสือน่าอ่านจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

คำตอบก็คือหนังสือเล่มนี้คลาสสิกน่ะสิ

คลาสสิกตั้งแต่ผู้เขียน แนวความคิดไปจนกระทั่งกรณีศึกษา

อัล รีย์ และแจ็ค เทร้าท์ ซึ่งผมมักเรียกติดปากว่า “สองกุมารการตลาด” ทั้งๆที่คนคู่นี้เติบโตจากแวดวงโฆษณา เขียนหนังสือร่วมกันเล่มแรกชื่อ Positioning ซึ่งดังระเบิดเถิดเทิงตราบกระทั่งทุกวันนี้เช่นกัน

Marketing Warfare เป็นหนังสือเกี่ยวกับสงครามการตลาดที่โด่งดังที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุด

ผู้เขียนได้นำความคิดทางทหารจากพิชัยยุทธ์ On War ของปราชญ์การทหารชาวปรัสเซีย เจ้าของฉายา “ซุนวูยุโรป” มาปรับใช้กับการตลาด

“เราคิดว่าหนังสือการตลาดที่ดีที่สุด คือ On War เขียนโดย Karl Von Clausewitz เมื่อปี 1832 ซึ่งฉายภาพหลักกลยุทธ์เบื้องหลังสงครามที่ประสบความสำเร็จต่างๆ

รีย์และเทร้าท์เชื่อว่า การตลาดคือสงคราม

บริษัททั้งหลายทั้งปวงควรใส่ใจกับคู่แข่งขัน

บริษัทต้องหาจุดอ่อนของคู่แข่งขัน หลังจากนั้นก็ใช้กลยุทธ์การตลาดโจมตีจุดอ่อนนั้น

เมื่อการตลาดคือสงคราม…

…คู่แข่งขันคือศัตรู

…และเป้าหมายก็คือชัยชนะในสงคราม

Published in: on April 18, 2007 at 6:27 pm  Comments (10)  

Second Life.com นิพพานไม่ได้ แต่อวตารได้

second1.jpg

ลองจินตนาการดู ….

นึกถึงโลก ๆ หนึ่งที่เราสามารถกำหนดได้ ว่าจะเกิดมาเป็นอะไร หน้าตาแบบไหน ทรวดทรงองค์เอวสะท้านใจเพศตรงข้ามขนาดไหน

โลกที่นำเอาสิ่งที่ผู้คนชื่นชอบในโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไป แล้วบวกเพิ่มสิ่งที่ใจใฝ่ฝันเข้าไปอีก

เป็นโลกที่ไม่จำกัดเพศ-สัญชาติ-สีผิว-ชนชั้น-ฐานะ (แต่จำกัดอายุ)

เป็นโลกที่ไม่ต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนหรือเรือนปีในการเดินทางไปสัมผัส … ดั่งเช่นนักบุกเบิกสำรวจโลกในอดีตเขาทำกัน

ขอให้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ แล้วให้เวลาเรียนรู้ทำความเข้าใจการใช้ชีวิตในโลกแบบที่ว่าสักหน่อยนึง ก็สามารถ “มีชีวิต” มีตัวตนในโลกนี้ได้

ร่ายมาซะยาว ผมกำลังจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Second Life

Second Life เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของ “โลกเสมือน” (Virtual World) ด้วยรูปแบบสามมิติที่ใกล้เคียงสภาพแวดล้อมที่มนุษย์เราใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด (ในขณะนี้)

(ลองเข้าไปที่เวป http://www.youtube.com แล้วค้นหาคำว่า second life จะมีตัวอย่างคลิปที่เกี่ยวข้องให้ดูพอได้ไอเดีย หรือไม่ก็เข้าไปที่ http://www.secondlife.com เพื่อให้ได้กลิ่นอายก่อนก็ได้)

ด้วยการสร้างของบริษัทอเมริกันที่มีพนักงานเพียงร้อยกว่าคนที่เรียกว่า Linden Lab ในปี 2546 แต่เริ่มดังขึ้นจริง ๆ ในช่วงปี 49 ปีที่แล้วนี่เอง ผ่านการกล่าวถึงของสื่อระดับโลก รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมขององค์กร หรือหน่วยทางสังคมสำคัญของโลก

ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใน Second Life ประมาณเกือบสี่ล้านคน (แต่ที่เข้ามาใช้งานจริงในช่วงไม่เกินสองเดือนที่ผ่านมามีประมาณล้านกว่าคน)

การจะเข้าไปสัมผัสโลกนี้ไม่ยาก เพียงแค่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสเป็คขั้นต่ำใช้ได้ ต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แล้วเข้าไปลงทะเบียน

เมื่อลงทะเบียน ผู้ใช้จะต้องตั้งชื่อ รวมทั้งกำหนดรูปร่างหน้าตาของตัวเองในนั้น หรือที่เรียกภาษาเฉพาะว่า “อวาตาร์” (Avatar) … ซึ่งก็คือคำเดียวกับ “อวตาร” ที่เป็นแนวคิดทางปรัชญาฮินดู หมายถึงการแบ่งภาคลงมาเกิดในโลก (ของเทพเจ้าฮินดู เช่น นารายณ์อวตาร)

เมื่อกำหนด “อวตาร” ของตนเองแล้ว ก็จะสามารถเข้าไปในโลกของ Second Life ได้

ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ Second Life ยังเป็นโลกที่ว่างเปล่า เพราะทีมผู้สร้างต้องการให้ Second Life เป็น Platform ที่รองรับการสร้างสรรค์ของบรรดาผู้เข้ามาใช้ ปรากฏว่าผ่านไป 5 เดือน มีผู้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอเพียง 1,000 คน และเงินทุนมีอยู่ก็ใกล้เกลี้ยงกระเป๋า

ท่ามกลางความลังเลใจของเจ้าของเงินทุนว่าจะเดินหน้าหรือถอยฉาก ทีมงานได้สังเกตเห็นบางสิ่งในโลกที่พวกเขาสร้างขึ้น … หน้าตาของเมืองที่ผู้ใช้ร่วมกันสร้าง บางคนก็สร้างป่า บางคนสร้างไนต์คลับ บ้างก็สร้างอะไรแปลก ๆ … ทั้งหมดเต็มเปี่ยมไปด้วย “ความคิดสร้างสรรค์”

ทีมงานจึงตัดสินใจลุยต่ออีกเฮือกหนึ่ง รีลอนช์ Second Life อีกครั้ง พร้อมน้อมเอาคำแนะนำของกูรูทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา แห่งโรงเรียนกฎหมายแสตนฟอร์ด ลอว์เรนซ์ เลสซิก มาใช้ ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของสถาปัตยกรรมทางสังคมของ Second Life

ลอว์เรนซ์ได้แนะให้ออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้ สิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นใน Second Life ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้ นั่นคือมีกฎกติกาเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินทางปัญญา” (Intellectual Property) ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแรงจูงใจที่กระตุ้นให้ผู้ใช้สร้างอะไรดี ๆ ออกมามากขึ้นไปอีก

(ตรงคล้ายคลึงกับความคิดที่ให้ปัจเจกบุคคล เป็นเจ้าของทรัพย์สินของตัวเอง หรือเรียกว่ามี Property Right เป็นรากฐานของระบบทุนนิยม ซึ่งแตกต่างกับสังคมที่คนแต่ละคนไม่มีกรรมสิทธิ์ในของที่ตัวเองทำ รัฐเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ)

เมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในโลกเสมือนนี้ (Digital Creation) เป็นทรัพย์สิน นั่นหมายความว่าจะมีการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือได้ ทางผู้สร้างจึงกำหนดให้ใช้เงินตราสกุล Linden เป็นสื่อกลางในระบบเศรษฐกิจของ Second Life

ยิ่งกว่านั้น สกุลเงิน Linden นั้น ยังสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินสำคัญที่เราใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบันได้อีก

เป็นสะพานเชื่อม “โลกไซเบอร์” กับ “โลกจริง” อีกต่อหนึ่ง

สำหรับผู้ต้องการครอบครองพื้นที่ (ที่ดิน) ใน Second Life จะต้องจ่ายเงินซื้อจากบริษัท Linden Lab หรือสำหรับผู้ใช้ที่อยากลงทะเบียนแบบพิเศษ (ต้องจ่ายตังค์) ก็จะได้รับเงินติดกระเป๋าจำนวนหนึ่ง และได้ค่าใช้จ่ายประจำสัปดาห์อีกจำนวนหนึ่ง

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจคิดเอาว่าคงมีเฉพาะคนที่มีเวลาว่าง ๆ หรือนึกสนุกอยากคิดสร้างสรรค์อะไรเพลิน ๆ ถึงค่อย “อวตาร” เข้าไปอยู่ในโลก Second Life

แต่ลองสำรวจดูจะพบว่า …

รอยเตอร์ ไปตั้งสำนักข่าว มีตัวนักข่าวรอยเตอร์จริง ๆ และเชื่อมต่อกับเวปรอยเตอร์จริง โดยมีรายงานอัตราแลกเปลี่ยน (ระหว่างสกุลเงิน ลินเดน และสกุลเงินสำคัญของโลก) มีการสรุปธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Second Life ในแต่ละวัน

โบโน และวง U2 ของเขาไปจัดคอนเสิร์ตกัน

ประเทศสวีเดนประกาศตั้งสถานทูตของตัวเอง (แต่ไม่แน่ใจว่าจะมี อวตารของเอกอัคราชฑูตสวีเดนประจำ Second Life หรือเปล่า)

แบรนด์อย่าง Adidas หรือ American Apparel ก็ไปเปิดช็อป (ทั้งที่ขายของจริง ๆ ในนั้น และโปรโมทคอลเล็คชั่นใหม่ ๆ ให้ผู้เล่นหน้าจอคอมอยากออกไปซื้อจริง ๆ ตามร้านแถวห้างสรรพสินค้าที่ไปกันบ่อย)

Harvard Business School ไปเปิดแคมปัสย่อย

Window Vista ก็จัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในนั้น

IBM ได้ไปซื้อที่เกาะ ๆ หนึ่งเพื่อเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์ของพนักงานทั่วโลก และนาย Sam Palmisano ซีอีโอไอบีเอ็ม (และบรรดาผู้บริหารท่านอื่น ๆ) ก็ได้มีตัวตนจริง ๆ นอกจากนั้นยังได้ไปสนับสนุนการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียนโอเพ่นในนั้นอีก

คุณล่ะ อยากอวตารบ้างไหม

ปล.ผม คืออาทิตย์ โกวิทวรางกูร ไม่ใช่ธันยวัชร์ นะครับ

Published in: on April 18, 2007 at 2:05 am  Comments (9)  

Good Boss, Bad Boss

ถ้าไปถามนักธุรกิจทั่วโลกว่าใครเป็น Guru ในดวงใจ

จำนวนมากต้องตอบว่า ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์

แต่ถ้าไปถามว่าใครคือนักมืออาชีพที่น่าสนใจใคร่ติดตาม

ผมเชื่อว่าชื่อแจ็ค เวลส์ คงหลุดจากปากซีอีโอทั่วโลกนับไม่ถ้วนทีเดียว

แม้เขาจะลงจากตำแหน่งซีอีโอไปนานถึง 5 ปีแล้วก็ตาม

เวลส์และภรรยาของเขา ซูซี่(ซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Harvard Business Review) มาเขียนตอบคำถามหน้าสุดท้ายของนิตยสาร BusinessWeek ในคอลัมน์ The Welch Way ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง

จดหมายที่ถามแจ็ค เวลส์ นั้นมาจากทั่วทุกสารทิศ อเมริกา ยุโรป เอเชีย อาฟริกา

แจ็คก็ตอบคมเหลือเกิน ยิ่งได้ศรีภริยาซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการมือดีมาช่วยตอบด้วยแล้ว อย่าได้พลาดสักฉบับทีเดียวเชียว

มีคำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ

เขาถามว่า “ควรจะทำงานกับนายดี ในบริษัทที่กำลังแย่ หรือทำงานกับนายเลว แต่บริษัทกำลังรุ่งเรือง”

ก่อนอื่นมาดูคำจำกัดความของนายที่ดี และนายที่เลวเสียก่อน

นายที่ดีนั้นทำให้การทำงานสนุก

Making work Fun ก็หมายความว่า การทำงานก็เหมือนกับไม่ทำงาน เมื่อใดตามที่ลูกน้องทำงานด้วยความสนุก แต่ถ้าไม่ enjoy กับการทำงานเมื่อไหร่ รับรองได้ว่าผลงานออกมาแบบดีแน่นอน

นายที่เลวนั้นตรงกันข้ามกับนายที่ดี

ผมนั้นเคยเจอนายเลวมาก็มาก นายที่ดีก็มี

นายเลวนั้น บทจะเลว ก็เลวสิ้นดี คุณพิชัย editor-in-chief ก็รู้จักดีเพราะเผชิญความเลวของคนๆนี้ไม่เหมือนกัน

นายเลวนั้นส่วนใหญ่จะเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรนั้นก็คือ “หลักยึด” ที่มองไม่เห็น

ใครก็ตามที่กลมกลืนกับวัฒนธรรมองค์กรได้

ก็จะอยู่ยั้งยืนยง

การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรนั้น ใช่ว่าทำไม่ได้

ขึ้นอยู่กับว่า “คุณเป็นใคร”

ถ้าคุณเป็นผู้นำองค์กร ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เพราะคุณนั่นเองแหละที่เป็นผู้กำหนดวัฒนธรรม ซึ่งก็คือวัฒนธรรมการทำงานนั่นเอง

นายที่เลวนั้นคือนายที่ทำงานด้วยแล้วไม่สนุก

อยู่ด้วยแล้วอึดอัด จะทำอะไรก็ไม่เป็นธรรมชาติ ได้แต่ภาวนาให้เวลาหมดไปวันๆ

นายเลวนั้นชอบบี้ลูกน้อง ไม่สอน เอาแต่ใจตนเอง

ขณะที่นายดีจะช่วยลูกน้อง ปกป้องลูกน้อง ทำตัวเหมือนเพื่อนเก่าที่หายไปนาน
และพฤติกรรมของนายดีแบบนี้ จะทำให้นายอยู่ยาก หากลูกน้องไม่แสดงผลงาน

เพราะนายดีจะอ้าแขนปกป้องลูกน้อง จนในที่สุดถูกการเมืองในองค์กรเล่นงาน

แจ๊ค เวลส์ ให้คำแนะนำในช่วงท้ายว่า

“ถ้าองค์กรดีจริง ถึงจะมีนายเลว ก็ขอให้อดทนไว้ เพราะนายเลว สุดท้ายก็เปลี่ยนได้”

เพราะนายไม่ใช่เจ้าของบริษัท!!!

ปล.ช่วยแสดงความเห็นหน่อย ว่าเจ้านายของคุณเป็นไง

Published in: on April 17, 2007 at 12:03 am  Comments (34)