Youth + Creativity
ข้อคิดจากบอลโลก

แม้ทีมชาติสเปนจะสร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ทีมจากทวีปยุโรปสามารถคว้าแชมป์นอกทวีปได้เป็นครั้งแรก

และเป็นทีมที่แพ้ในรอบแรกทีมเดียวที่คว้าแชมป์โลกได้

แต่ทว่าทีมที่ชิงซีนไปในทัวนาเม้นต์นี้ในความเห็นของผมก็คือเยอรมันและหมึกของเยอรมัน

สเปนนั้นเป็นเต็งหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้น การได้แชมป์โลกนั้นก็สมควรแล้ว(ทั้งที่ยิงประตูได้น้อยเหลือเกิน) แต่เยอรมันชุดนี้ไม่ได้มีใครตั้งความหวังอะไรมากนัก อย่าว่าแต่แฟนบอลเยอรมันเลย กระทั่งชาวเยอรมันเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก

ดังนั้นเมื่อผลการแข่งขันในรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่บดอังกฤษ คู่แค้นตลอดกาลไปได้ 4-1 ทั้งๆที่ทีมสิงโตคำรามเต็มไปด้วยซุปเปอร์สตาร์อย่างเวย์น รูนี่ แลมพาร์ต เจอร์ราด เทอร์รี่ โคล

โลกต้องหันกลับมามองเยอรมันอีกครั้ง แต่ก็คิดว่าอังกฤษกับเยอรมันคู่นี้ใครชนะก็ต้องไปถูกอาร์เจนตินาเชือดอยู่ดี

เมื่อเยอรมันช็อกโลกอีกครั้งด้วยการบดอาร์เจนตินา ถึง 4-0

โลกต้องกลับมามองเยอรมันอีกครั้ง พร้อมๆกับมองหมึกพอล ผู้ทำนายผลบอลครั้งใดแทบไม่เคยพลาด(นัดเดียวที่ทายผิดก็คือนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโรเมื่อสองปีที่แล้ว)

ชัยชนะของเยอรมันซึ่งไม่ได้มีสตาร์ดังคับทีมอย่างอังกฤษและอาร์เจนตินา ทั้งๆที่นักเตะวัยละอ่อนเต็มทีม แทบไม่มีซุปเปอร์สตาร์แม้แต่คนเดียว(แต่ระดับสตาร์มีนะ)

สะท้อนให้เห็นว่าโลกธุรกิจยุคนี้จะให้ความสำคัญกับ Youth มากกว่าประสบการณ์

กานาซึ่งเกือบจะเข้ารอบสี่ทีมสุดท้ายก็มีนักเตะอายุน้อยเต็มทีม เพราะสร้างทีมจากชุดเยาวชนโลก

ไม่ต้องพูดถึงสเปนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนักเตะรุ่นใหม่ๆเพื่อทดแทนรุ่นเก่าอยู่ตลอดเวลา

ในโลกธุรกิจ ผู้ประกอบการที่เปลี่ยนโลกล้วนเป็นคนหนุ่มวัยละอ่อนแทบทั้งสิ้น

Larry Page and Sergey Brin แห่ง google

Mark Zuckerberg แห่ง FaceBook

Michael Dell แห่ง Dell

Steve Jobs แห่ง Apple

Bill Gates แห่งไมโครซอฟท์

ล้วนเริ่มต้นธุริจในวัยยี่สิบต้นๆเท่านั้น แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้คิดจะเป็นเพียงผู้ประกอบการสามัญเพื่อสร้างความมั่งคั่งเท่านั้น
แต่พวกเขาเหล่านี้ต้องการเปลี่ยนโลก

หลังจากสตีฟ จ๊อบส์ สร้าง Apple Computer จยลงหลักปักฐานพร้อมที่จะบินแล้ว เขาได้ไปชวน John Sculley ซึ่งในเวลากำลังจ่อคิวจะขึ้นเป็น CEO Pepsi และเอ่ยปากชวนด้วยประโยคสะท้านโลกว่า “ Do you want to sell sugar water for the rest of your life or do you want to come with me and change the world?”

ประโยคนั้นแทงใจดำ Sculley แต่ก็ทำให้เขาคิดหนัก สุดท้ายเขาก็มาร่วมเปลี่ยนโลกกับสตีฟ จ๊อบส์จนได้

ซึ่ง Sculley นี่แหละที่ถีบจ๊อบส์ออกไปจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ตอนแรกจ๊อบส์แค้นมาก ต่อเขาก็ได้ตระหนักในสัจธรรมแห่งชีวิต และพบว่าเมื่อ Connect the dot แล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น

และเมื่อกลับมา Apple อีกครั้ง งานของจ๊อบส์ก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือ “เปลี่ยนโลก” ด้วย iPod iPhone และ iPad
เช่นเดียวกับสองผู้ก่อตั้ง Google เช่นกัน พวกเขาทั้งสองกำลังเปลี่ยนโลกด้วย Search Engine และสารพัดบริการฟรีที่ออกมาทุบหม้อข้าวคู่แข่งขัน แต่ผู้บริโภคได้ประโยชน์

ขณะที่ Mark Zuckerberg ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าพ่อหนุ่มคนนี้กำลังทำให้ Facebook ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว

โลกกำลังแบ่งออกเป็นสองยุค คือยุคก่อนมี facebook และยุคหลังมี facebook

สำหรับบางคน Facebook เป็นยิ่งกว่าSocial Network

มันคือ Way of Life

สมการความสำเร็จของยุคนี้ก็คือ Youth + Creativity + Think BIG = Change The World

Published in: on August 12, 2010 at 7:10 pm  Comments (3)  

วิถีโซนี่ 2 ตอนกรอบคิดของโมริตะ

morita1.jpg
โมริตะกับอิบูกะตัดสินใจจะเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ แทนที่จะขายของให้รัฐบาล ชะตากรรมบริษัทผูกกับฝ่ายจัดซื้อเท่านั้น ทั้งสองตัดสินใจทำธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์ให้มวลชน
ผลิตภัณฑ์แรกของโซนี่ หลังจากตัดสินใจเข้าสู่ Consumer Market ก็คือเครื่องบันทึกเทป

ก่อนหน้านั้นทั้งคู่วาดฝันไว้สวยหรู ว่าจะทำเงินมหาศาล จึงใช้เงินและบุคคลากรจำนวนมากเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้โดดเด่น อย่างไรก็ตามหลังจากเครื่องบันทึกเทปออกสู่ตลาด ผลปรากกฏว่าฝันสลายอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้บริโภคไม่ซื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ น่าสนใจ แต่แพงเกินไปสำหรับของเล่นชิ้นหนึ่ง”

แล้วจะขายของยังไงดี

ไม่ต้องบอกก็คงเห็นภาพโมริตะนอนก่ายหน้าผาก

อยู่มาวันหนึ่ง โมริตะเดินอยู่แถวๆบ้าน และหยุดอยู่หน้าร้านขายโบราณวัตถุ

เขาไม่ได้สนใจวัตถุโบราณหรอก แต่จ้องเขม็งไปที่บทความที่ติดไว้บนกระจกหน้าร้าน หลังจากนั้นโมริตะ ก็เดินจากไปโดยไม่สนใจ แต่ทว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินสวนเข้าไปในร้าน และถามพนักงานขายหลายคำ จากนั้นหนุ่มคนนี้ก็ควักกระเป๋าจ่ายเงินจำนวนมากซื้อวัตถุโบราณชิ้นที่โมริตะไม่ได้สนใจนั่นแหละ

หนุ่มเหน้ารายนี้เดินจากไปอย่างมีความสนุก

“ผมคิดว่าเครื่องบันทึกเทปโซนี่ มีคุณค่ามากกว่า แต่เจ้าหนุ่มผู้นั้นกลับจ่ายเงินซื้อวัตถุโบราณที่แพงกว่าเครื่องเล่นเทปของผมตั้งหลายเท่า”

โมริตะประหลาดใจและพิศวงงงวยกับพฤติกรรมของเจ้าหนุ่มคนนี้มาก

“เขาสอนการขายพื้นฐานให้ผม”

นั่นคือไม่มีทางขายสินค้าได้ ถ้าลูกค้าไม่ซาบซึ้งในคุณค่าของสินค้านั้น

“ไม่มีทางที่ผมจะซื้อวัตถุโบราณนั้นในราคาสูงปานนั้น เพราะผมไม่สนใจโบราณวัตถุ ทว่าคนอื่นที่ซาบซึ่งคุณค่าวัตถุโบราณ ก็พร้อมจะจ่ายเงิน”

ในสายตาของโมริตะและอิบูกะ เครื่องบันทึกเทปมีคุณค่ามหาศาล

พวกเขาคิดว่าราคาขายที่ตั้งนั้นถูกเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่ผู้บริโภคกลับคิดว่ามันเป็นแค่ของเล่นที่น่าสนใจเท่านั้น

บ๊ะ!!! ไหงเป็นงั้น

แปลว่าถ้าผู้บริโภคไม่คิดว่าเครื่องบันทึกเทปมีคุณค่า ก็จะไม่ซื้อ

โมริตะเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาฉับพลัน

เขาต้องสอนให้ผู้บริโภครู้ว่าเครื่องบันทึกเทปนั้นทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างในชีวิตประจำวัน

มันเป็นบทเรียนที่สอนให้ไม่เพียงแต่โซนี่เท่านั้น ทว่ายังสอนให้หลายๆบริษัทที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันด้วย นั่นคือบริษัทไม่เพียงแต่มีหน้าที่ผลิตสินค้าเท่านั้น หากยังต้องสอนให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักใช้สินค้านั้นด้วย (Educate Prospective Customers) ไม่เช่นนั้นตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ไม่เกิด

กระนั้นก็ตาม โซนี่ในห้วงตั้งไข่ซึ่งมีเงินและเวลาจำกัด ไม่สามารถสอนผู้คนทั้งญี่ปุ่นได้

“เราตระหนักว่าการตลาด คือการเพิ่มจำนวนผู้สามารถสื่อคุณประโยชน์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ไปสู่ลูกค้า โดยใช้วิธีเดียวกับที่เราทำ”

โมริตะเริ่มต้นสอนฝ่ายการตลาดของโซนี่ให้รู้ซึ้งถึงเป้าหมายนี้ จากนั้นส่งผ่านแนวความคิดนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

ภายใต้กระบวนการนี้ สารที่ถูกต้อง(Accurate Message) จักต้องสื่อจากตัวโมริตะไปยังฝ่ายการตลาด จากนั้นส่งผ่านไปยังพนักงานขายในแต่ละภาค

และส่งต่อไปยังเซลส์แมนของดีลเลอร์

ซึ่งก็หมายความว่างานการตลาดก็คืองานด้านการสื่อสารนั่นเอง!!!

Sony Way
“The product itself must be good, but it must also make the customer think, “ I’m glad I bought it ; I’m glad I use it ; I’m glad I have it.

Published in: on February 22, 2008 at 12:36 am  Comments (17)  

ไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)

ไตรภาคของความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ตอน ปฐมภาค โดยดร. วรัณทัต ดุลยพฤกษ์

ตามสัญญาเลือดที่ตัวผมเองได้ให้ไว้กับคุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย เลยต้องมาเขียนเล่าให้แฟนรายการ Business Connection เข้าใจในเรื่องความเสี่ยง (Risk) และ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในแบบฉบับคนทำมาหากินเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว

จริงๆแล้วที่มาของเจ้าตัวปัญหาทั้งคู่นี้มีคำอธิบายทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และสถิติรวมทั้งศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจต่างๆ มากมาย หากต้องการจะหาความเข้าใจในระดับที่ลึกซึ้งแบบฟันธงได้คงจะต้องมานั่งศึกษาหลักวิชาการที่แสนยากเย็นอีกหลายปี แค่ฟังท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงจะคิดถอดใจเป็นแน่แท้

เอาอย่างนี้ละกันครับ ผมจะย่อย ย่อ และ คัดนำสิ่งที่ท่านทั้งหลายหวาดกลัว มาหวีผม แต่งตัว ให้ดูน่ารักน่าเอ็นดู เข้าใจง่าย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้หาความสุขกับการทำความรู้จักความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่แสนน่าเกลียดน่ากลัว ตามผมมาสิครับ

เจ้าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจริงๆ แล้วเหมือนพี่น้องคลานตามกันมาครับ จะหาคำจำกัดความแบบเต็มก็มีจากหลายแหล่งความรู้ ทางที่สะดวกที่สุดก็เห็นจะเป็นการอ้างอิงจาก Wikipedia.com ครับ เขาบอกไว้ว่าอย่างนี้ครับ

ความเสี่ยง หรือ เจ้า Risk ผู้เป็นน้อง นี้คือ ตัวดัชนีบ่งชี้ของสิ่งที่คุกคาม (Threat) ซึ่งแน่นอนละครับว่าต้องรวมเจ้า ความไม่แน่นอน หรือ Uncertainty ผู้เป็นพี่เอาไว้ด้วย ถ้าจะให้คำจำกัดของความไม่แน่นอน (Uncertainty) แบบชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย มันคือ ความไม่สามารถจะหยั่งรู้อนาคตของพวกเรานั่นเองครับ

ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ University of Chicago ที่ชื่อ Frank Knight ได้ให้ความหมายของพี่น้องคู่นี้แบบโดนใจว่า ความเสี่ยง (Risk) คือ การวัดค่าในเชิงคุณภาพและปริมาณของความไม่แน่นอน (Uncertainty) นั่นเอง
ภาษาชาวบ้านแบบเข้าใจง่าย ๆ คือ ความเสี่ยงผู้น้องมีกำเนิดมาจากการจับความไม่แน่นอนผู้พี่มาอยู่ให้มาเข้าระบบการชั่งตวงวัดนั่นเอง

คราวนี้ เจ้าความเสี่ยงผู้น้องจะมาจับความไม่แน่นอนผู้พี่มาชั่งตวงวัดอย่างไรล่ะ เขามีแนวอีกอันหนึ่งที่ใช้จับพวกนี้ผ่านทางสถิติ เขาเรียกชื่อมันว่า

ความน่าจะเป็น (Probability) ความน่าจะเป็นที่ว่านี้คืออะไร

ถ้าย้อนอดีตไปตอนเรียนมัธยมคงจะเคยเจอ แต่เนื่องจากความเป็นคนไทย ซึ่งเรามักจะรู้คุณอาจารย์ที่ท่านสั่งสอนมาโดยการถวายคืนความรู้ที่ได้จากอาจารย์กลับไปหมดสิ้นภายหลังจากการสอบ ผมเลยขออนุญาตทวนความรู้แบบง่าย ๆ ให้พวกเราครับ

ความน่าจะเป็นคือการคิดหาสัดส่วนระหว่างโอกาสของสิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นหารด้วยโอกาสทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ เอาตัวอย่างแบบง่าย ๆ และลองคิดตามผมดูครับ

สมมติว่าท่านหยิบเหรียญบาทขึ้นมา 1 เหรียญ เอามาโยนปั่นแปะกัน โดยปกติแล้ว เหรียญบาทธรรมดา มีโอกาสที่จะออกหน้าได้ทั้งหมดสองหน้าครับ คือ ไม่หัว ก็ ก้อย

บางท่านอาจจะเถียงผมว่าน่าจะมีโอกาสที่เหรียญจะออกกลางคือ แบบว่าโยนไปแล้วเหรียญหล่นลงมาตั้งฉากกับพื้นโดยไม่โชว์หน้าใดหน้าหนึ่งออกมา ถ้าคิดแบบนี้เหนื่อยครับ แบบนี้เห็นแต่ในหนังจีนประเภทเซียนโค่นเซียนเท่านั้น ในชีวิตจริงยากครับ ไม่ต้องเอามาคิดเลยจะดีกว่า

จากที่ผมบอกไปแสดงว่า โอกาสทั้งของเหรียญที่จะออกมีอยู่แค่ 2 แบบเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามความน่าจะเป็นของการที่เหรียญจะออกหัวก็คือ โอกาสของจะออกหัวคือ 1 หารด้วยโอกาสทั้งหมดคือ 2 จะเท่ากับ 0.5 นั่นเองครับ ในทางการคิดคำนวณของโอกาสที่เหรียญจะออกก้อยก็ทำเหมือนกันครับ และเนื่องจากสูตรที่ให้ดังกล่าว ผลรวมของความน่าจะเป็นทั้งหมดจะต้องเท่ากับ 1 แน่นอนครับ (0.5 ออกหัว และ 0.5 ออกก้อยไงครับ)

ความน่าจะเป็นเหล่านี้บอกอะไรกับท่านล่ะครับ ง่าย ๆ ครับ อันไหนมีค่าความน่าจะเป็นจากการคำนวณสูงก็หมายถึงโอกาสที่จะเกิดก็จะสูงตามไปด้วย แต่อย่าลืมครับ โอกาสสูงสุดของความน่าจะเป็นคือ 1 หรือ พูดง่าย ๆ ว่า โอกาสจะเกิดขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ครับ

จะความน่าจะเป็นไปทำอะไรต่อดีล่ะ

ผมแนะนำแนวความคิดอีกอันแบบต่อเนื่องให้ลองคิดดูครับ

นักเศรษฐศาสตร์เขาจับเอาความน่าจะเป็นเหล่านี้ไปคูณกับผลที่ได้รับแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า มูลค่าความคาดหวัง หรือ Expected Value มูลค่าตัวนี้เอาไปทำอะไร หลายคนคงใจร้อนอยากทราบ

บอกให้แบบง่าย ๆ ครับคือ มูลค่าโดยรวมที่คาดว่าจะได้รับเมื่อประเมินร่วมกับความน่าจะเป็นทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง และเพื่อเป็นการยกตัวอย่างแบบถึงใจพระเดชพระคุณ ผมขออนุญาตใช้ตัวอย่างแบบชาวบ้านละกัน

สมมติว่า ท่านมีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมการพนัน โดยเจ้ามือเขาเสนอท่านมาว่ามาเล่นปั่นแปะกินเงินดีกว่า เพราะได้เงินทันใจไม่ต้องลุ้นนาน

เขาเสนอมาอย่างนี้ครับ ถ้าแทงถูก กล่าวคือ แทงหัวออกหัว แทงก้อยออกก้อย เขาจะจ่ายให้เท่ากับจำนวนเงินที่ท่านแทงเป็นผลตอบแทน แต่ถ้าออกหน้าเหรียญไม่ตรงละก็เจ้ามือกินเงินท่านทันที ลองมาคำนวณมูลค่าความคาดหวังจากกิจกรรมการพนันดูครับว่ามันจะเป็นอย่างไร

เริ่มต้นให้มองแบบนี้ครับ โอกาสทั้งหมดที่ท่านในฐานะผู้ลุ้นโชคมีอยู่คือ แทงถูกรับทรัพย์ แทงผิดเสียทรัพย์ ถ้าสมมติว่าท่านแทง 100 บาท ถ้าถูก เจ้ามือก็จะจ่ายทันที 100 บาท รวมเงินที่ท่านจะมีเงินสุทธิก็จะเท่ากับ 200 บาท (100 บาทเดิมของเรา กับ 100 บาทเจ้ามือจ่าย) แต่ถ้าท่านทายผิด ท่านจะต้องจ่ายเงิน 100 บาทของท่านแก่เจ้ามือโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าท่านจะกลายเป็นติดลบ 100 บาททันที

ผนวกรวมกับการคำนวณความน่าจะเป็นที่บอกไปแล้วครับ ถ้ามองดี ๆ โอกาสที่เหรียญจะออกหน้าใดหน้าหนึ่งมีความหน้าจะเป็นเท่ากับ 0.5 อยู่แล้ว คือ มีโอกาสออกแต่ละหน้าแบบ ”ห้าสิบห้าสิบ” เชื่อมโยงกับโอกาสถูกรางวัลของท่านแบบง่ายๆ ก็จะเป็น ถ้าเราแทงหัวหรือก้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก็หมายถึงเรามีโอกาสถูก “ห้าสิบห้าสิบ” เช่นกัน เราลองมาคำนวณมูลค่าความคาดหวังกันดีกว่าครับ

ส่วนแรก ลองเอาความน่าจะเป็นที่จะแทงหัวออกหัวหรือแทงก้อยออกก้อย หรือพูดง่าย ๆ ว่าแทงถูก ซึ่งเท่ากับ0.5 คูณกับเงินสุทธิที่จะได้เมื่อแทงถูก 200 บาท ก็จะได้เท่ากับ 100 บาท

ส่วนที่สอง เอาความน่าจะเป็นที่เหลือ หรือ เมื่อท่านแทงไม่ถูก คือ แทงหัวดันออกก้อย หรือ แทงก้อยดันออกหัว ซึ่งท่ากับ 0.5 นั่นเอง คูณกับเงินสุทธิที่ท่านแทงผิดคือ ติดลบ 100 บาท เท่าก็จะได้ ลบ 50 บาทนั่นเอง ก็คือติดลบไป 50 บาทว่างั้นเถอะ

คราวนี้นำส่วนแรกกับส่วนที่สองมารวมกันเพื่อคำนวณมูลค่าความคาดหวังก็จะได้เท่ากับ 50 บาท (นำ 100 บาทที่ได้จากการคำนวณในส่วนที่ท่านแทงถูก รวมกับ -50 บาทในส่วนสองหากท่านแทงผิด) แปรผลอย่างนี้ครับ เดิมแรก ท่านมีเงินอยู่ในกระเป๋าดี ๆ 100 บาทแบบเต็มมูลค่าและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่หากท่านจะนำเงินไปเสี่ยง (บางคนชอบบอกว่าเอาไปลงทุน) เงินของท่านมีมูลค่าความคาดหวังเหลือเพียง 50 บาทเอง มาถึงตรงนี้แล้ว ยังอยากเสี่ยงเล่นปั่นแปะกับเจ้ามือหรือเปล่าครับ จะเห็นได้ว่า แค่คิดจะเล่นเหมือนให้เจ้ามือเขาไปฟรี ๆ 50 บาทไปแล้ว

พอเล่ามาถึงตอนนี้แล้ว หลายท่านคงไม่อยากจะคิดเล่นการพนันอีก ผมเคยลองคำนวณพวกมูลค่าความคาดหวังเหล่านี้จากพวกหวยรัฐบาล ขอสงวนไม่บอกตัวเลขละกันครับ แต่บอกพวกเราได้ว่า เก็บเงินไว้ซื้อขนมให้ลูก หรือ เช่าพระดีกว่าครับ

บางคนอาจคิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก ขอเป็นเจ้ามือเองเพราะอยากได้เงินที่บอก ก่อนอื่นผมและทางผู้จัด Business Connection ขอยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมการพนันทุกรูปแบบนะครับ ผมให้ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ครับ เมืองใหญ่ที่เน้นเรื่องการพนันเช่น เมือง Las Vegas ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้ามือรายใหญ่ เคยเห็นเขาเจ๊งไหมครับ เห็นแต่รวยเอา ๆ ขยายโรงแรมและธุรกิจกันทุกปี ภาษีซื้อขายในรัฐเขาไม่ต้องเสีย

รัฐNevada ที่เป็นที่ตั้งของเมืองLas Vegas แถบจะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันยกเว้นเจ้ากิจการการพนันนี่แหละ เมืองเดียวเลี้ยงทั้งรัฐ การพนันไม่จำเป็นต้องโกง อาศัยความน่าจะเป็นเจ้ามือก็รับทรัพย์ไปแล้วครับ อันนี้ถ้าท่านจะคิดถึงการตั้งบ่อนของท่านเอง ค่าใช้จ่ายนอกระบบอีกบานตะไทครับ อย่าไปทำเลยครับ ผมว่ามันบาปเปล่า ๆ

ในตอนนี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะเริ่มทำความรู้จักและสนุกกับพี่ความไม่แน่นอนกับน้องความเสี่ยงแล้วนะครับ ในตอนหน้าจะเล่าให้ฟังถึงคน 3 กลุ่มครับ เขามีพวกชอบความเสี่ยง (Risk loving) พวกเฉย ๆ กับความเสี่ยง (Risk Neutral) และ พวกกลัวความเสี่ยง (Risk Averse)

อยากทราบไหมละครับว่าท่านหรือลูกค้าท่านจัดอยู่ในกลุ่มใด

ตอนหน้าติดตามได้ครับ

Published in: on June 11, 2007 at 12:08 am  Comments (18)